วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553

ปั้นไทยฐานผลิตอาหารโลก

สอท.จับมือสถาบันอาหารบินตรงโรดโชว์ดึงทุนญี่ปุ่น-ยุโรป- จีน เดินหน้ายกระดับไทยเป็นฐานผลิตอาหารแปรรูปของโลก แย้มมีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในไทย เพราะมีวัตถุดิบเหลือเฟือ...

นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนเตรียมประสานงานกับสถาบันอาหารในการร่วมกันเดินทางไปโรดโชว์นักลงทุนต่างประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและจีน เข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในไทย เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางของฐานการผลิตอุตสาหกรรมอาหารโลก เนื่องจากมีนักลงทุนต่างชาติหลายรายสนใจเข้ามาลงทุนในไทย เพราะมีวัตถุดิบในการผลิตจำนวนมากเพียงพอต่อความต้องการภาคอุตสาหกรรม เช่น ข้าว มันสำปะหลัง สมุนไพร ผักผลไม้ เนื้อสัตว์ และปลา เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้ภาคอุตสาหกรรมอาหารไทยจะมีโรงงานกว่า 10,000 แห่ง และส่งออกอาหารมูลค่าระดับ 700,000 ล้านบาทต่อปี แต่หากวางเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารของโลก จำเป็นต้องมีการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทย เพราะนอกจากจะมีเงินทุนจำนวนมากแล้ว ยังมีเทคโนโลยีที่ดีในการพัฒนามูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรและช่วยขยายตลาดส่งออกได้เป็นอย่างดี


"สถานการณ์ของอุตสาหกรรมอาหารในปีนี้พบว่ามีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) เพิ่มอย่างต่อเนื่อง หากปัญหาการเมืองไม่ยืดเยื้อนานเกินไปและไม่รุนแรงเชื่อว่าในไตรมาส 3 ของปี ผู้ค้าจากต่างประเทศจะสั่งออเดอร์จำนวนมากในการเพิ่มสต๊อกรองรับกับช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่"

นายวิศิษฎ์กล่าวว่า ขณะเดียวกันสำนักงานผู้แทนการค้าไทยได้ประสานงานกับ สอท. ในการส่งเสริมการลงทุนร่วมระหว่างนักธุรกิจไทยกับนักลงทุนในกลุ่มตะวันออกกลาง เพื่อสร้างไซโลเก็บข้าวจากไทยประมาณ 20 จุด เน้นประเทศ บาห์เรน และเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ วงเงินลงทุน 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยระบายข้าวไทยและสร้างตลาดสินค้าที่แน่นอนด้วยและที่สำคัญจะช่วยทำให้ข้าวไทยมีราคาสูงด้วยเพราะตลาดตะวันออกกลางมีกำลังซื้อที่สูง

"ที่ผ่านมามีข่าวว่ากลุ่มทุนจากตะวันออกกลางต้องการข้าวมากและมีแนวคิดจะมาซื้อที่นาปลูกข้าวในไทยแต่ถูกกระแสต่อต้าน ดังนั้น หากมีการลงทุนสร้างไซโลเก็บข้าวก็จะทำให้กลุ่ม ตะวันออกกลางสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนข้าวได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อไทยในการระบายข้าวและช่วยพยุงให้ราคาข้าวอยู่ในระดับที่สูงด้วย ล่าสุดผู้แทนการค้าและกลุ่มทุนตะวันออกกลางได้มีการศึกษาความเป็นไปได้อย่างจริงจังแล้ว"

นายวิศิษฎ์กล่าวอีกว่า ชาวนาไทยที่จะมีตลาดส่งออกแน่นอน ซึ่งจะช่วยระบายข้าวไทยได้ง่ายและแต่ขณะเดียวกันภาคเกษตรกรรมเริ่มประสบปัญหาภัยแล้งทำให้หลายภาคอุตสาหกรรมมีวัตถุดิบ ในการผลิตลดลง เช่น สับปะรด มันสำปะหลัง สมุนไพร เป็นต้น

นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการ สถาบันอาหารกล่าวว่า ปัจจุบันสถาบันอาหารได้จัดกิจกรรมร่วมกับหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารไทยจับคู่เจรจาทางการค้ากับผู้นำเข้าต่างประเทศเพื่อขยายตลาด อาหาร และร่วมกับบีโอไอในการดึงนักลงทุนด้านอาหารมาลงทุนในไทย

ทั้งนี้ สถาบันอาหารมีแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มของอาหาร 5 ปี (53-57) โดยจะเพิ่มมูลค่าส่งออกอาหารปีละ 10% จนมีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท ในปี 2557 เน้นการ สร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้เป็นที่ยอมรับของตลาดคู่ค้า, พัฒนาคุณภาพอาหารฮาลาลและส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปในการสร้างมูลค่าเพิ่ม สินค้าเกษตร เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น