โดย ประสงค์ วิสุทธิ์
การยิงระเบิดเอ็ม 79 ถล่มสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ศาลาแดงบริเวณถนนสีลมถึง 5 ลูกจนมีผู้บาดเจ็บร่วม 80 คนและเสียชีวิตแล้ว 1 คน และการยิงจรวดอาร์พีจีถล่มคลังน้ำมันขนาด 22 ล้านลิตรที่จังหวัดปทุมธานี เข้าข่าย"การก่อการร้าย"สมบูรณณ์แบบ ตามประมวลกฎหมายอาญา(มาตรา 135/1 ถึงมาตรา 135/4 ) เพราะการกระทำดังกล่าวมีองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายอย่างครบถ้วนคือ
(1)ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย(มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก)
(2)กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ(ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน)หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ(คลังน้ำมัน)
(3)กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือของบุคคลใด อันก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ(ระบบขนส่งมวลชนต้องหยุดให้บริการ-คลังน้ำมัน)
นอกจากนั้น ผู้กระทำ(ยังไม่มีหลักฐานระบุชัดว่าเป็นใคร)น่าจะมีเจตนาพิเศษหรือมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทยให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน(ชาวบ้านหวาดผวา ไม่กล้าใช้รถไฟฟ้าทั้งลอยฟ้า-ใต้ดิน และรู้สึกไม่ปลอดภัยในการเดินทาง
มีข้อน่าสังเกตว่า การก่อการด้วยระเบิดในลักษณะเดียวกันอย่างต่อเนื่องมานานนับเดือนนับแต่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)หรือกลุ่มเสื้อแดง
เป้าหมายที่ถูกกระทำทั้งหมดคือ หน่วยงานของรัฐ อาทิ ที่ตั้งทางทหาร บริษัทเอกชน อาทิ ธนาคารกรุงเทพ ที่ นปช.มองว่า เป็นฝ่ายตรงข้าม ไม่มีกลุ่มเสื้อแดงเลย
ดังนั้น ไม่ว่า ผู้ก่อการร้ายเป็นใครหรือกลุ่มไหน แต่เมื่อดูการกระทำแล้ว ต้องการให้สาธารณชนเห็นว่า เป็นการกระทำของกลุ่มเสื้อแดงหรือแนวร่วมของกลุ่มเสื้อแดง(หรืออาจเป็นการกระทำของกลุ่มหรือแนวร่วมเสื้อแดงจริง?)
การกระทำดังกล่าว จึงเท่ากับบีบให้รัฐบาลเร่งจัดการกับกลุ่มเสื้อแดงอย่างเฉียบขาด
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์ปะทะกันเมื่อคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 มีผู้เสียชีวิตถึง 25 คน บาดเจ็บร่วม 1,000 คน จนถึงการยิงเอ็ม 79 ถล่มสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ยิ่งทำให้สถานการณ์เปราะบางและมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ตามมา ท่ามกลางการเผชิญหน้าของมวลชน 2 กลุ่มที่เคียดแค้น เกลียดชังกันอย่างรุนแรง
ความเกลีดยชังกันอย่างรุนแรงนั้น นอกจากการใช้สื่อของแต่ละฝ่ายปลุกเร้ากันมานานนับปีแล้ว สถานการณ์ของการชุมนุมยังทำให้ผู้ชุมนุมถูกตัดขาดจากการสื่อสารด้านอื่นๆของสังคม แต่รับข่าวสารด้านเดียวจากแกนนำที่มุ่งปลุกเร้าความเกลียดชังกรอกหูอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เช่นเดียวกับรัฐบาลพยายามใช้สื่อของรัฐในทำนองเดียวกัน
ผู้นำรัฐบาลและแกนนำ นปช.รู้ว่า ในสถานการณ์เปราะบางเช่นนี้ ถ้าไม่ยอมถอยคนละก้าวเพื่อให้มีการเจรจากัน จะมีการเสียเลือดเนื้อครั้งใหญ่ตามมา
ฝ่ายหนึ่งอ้างเพื่อรักษา"นิติรัฐ" ขณะที่อีกฝ่ายอ้างว่า ต้องการ"ประชาธิปไตย" โดยยื่นเงื่อนไขให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติก่อน จึงจะยอมเปิดเจรจา
แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นการยื่นเงื่อนไขเพื่อปิดทางการเจรจา และเดินเกมเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย(ผลประโยชน์)และชัยชนะของตนเองโดยใช้ชาวบ้านที่เข้าร่วมชุมนุมเป็นเพียงเบี้ย
การการะทำของผู้นำและแกนนำทั้งสองฝ่าย นับว่า โหดเหี้ยมอำมหิตยิ่งกว่า ผู้ก่อการร้ายที่ยิงเอ็ม 79 ถล่มสถานีรถไฟฟ้าบีที่เอสเสียอีก เพราะเป็นการฆ่าหมู่ โดยไม่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ ชีวิตและเลือดเนื้อของชาวบ้าน เพราะต่างทราบผลของการกระทำของตนเองดีกว่า อาจจะมีผู้คนตายเป็นเบือมากกว่าครั้งไหนๆ
ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกครั้ง ผู้นำรัฐบาลต้องกลายร่าง"ทรราชย์"สมบูรณ์แบบ เช่นเดียวกับแกนนำ นปช แม้อาจได้รับชัยชนะบนซากศพของชาวบ้าน แต่ต้องถูกประณามว่า "หลอกคนมาตาย"
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น