วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เรียนรู้วิธีรับมือลูกไม่ยอมกินข้าว

พ่อแม่มือใหม่ที่กำลังหนักใจกับปัญหาลูก ๆ ไม่ยอมกินข้าว ผัก และมีวินัยการกินที่ผิดจนทำให้อ้วนหรือร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วยง่าย กฤษฎี โพธิทัต นักกำหนดอาหาร ผู้เขียนหนังสือ สุดยอดอาหาร สร้างลูกให้เป็นอัจฉริยะ มีคำแนะนำว่า ซูเปอร์ฟู้ดคือ อาหารธรรมชาติที่ไม่ได้ผ่านขบวนการผลิต อาทิ ผัก เนื้อหมู ปลา ซึ่งส่งผลดีและจำเป็นต่อสมอง ร่างกาย และจิตใจของเด็ก ๆ เพราะอาหารสมองไม่ได้มีเพียงแค่ดีเอชเอ หรือโอเมก้า 3 แต่ยังต้องอาศัยความสมดุลของสารอาหารหลากชนิด

นักกำหนดอาหาร แนะต่อว่า อาหารประเภทถั่ว ไข่ เนื้อ ไก่ ข้าวกล้อง ผักผลไม้ จึงเป็นอาหารสมองสำคัญที่เด็กไม่ควรพลาด สำหรับพ่อแม่ที่มีปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าว กินแต่ขนม ชอบอมข้าวหรือเลือกกินอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การกินขนมทั้งวันทำให้ไม่รู้สึกหิว หรือลูกเคี้ยวไม่เป็น ซึ่งพ่อแม่ควรปรับเปลี่ยนเมนูให้น่าสนใจมากขึ้นและสร้างบรรยากาศในการกิน รวมถึงจัดเวลาในการดื่มนมเพราะถ้าดื่มนมใกล้มื้ออาหารหรือกินไม่เป็นเวลาจะทำให้ลูกไม่รู้สึกหิว และสิ่งสำคัญคือไม่ควรบังคับให้ลูกกินเยอะ เพราะเขาจะรู้สึกอึดอัดและไม่อยากกินอีกต่อไป และคุณแม่ควรให้ลูก มีส่วนร่วมในการคิดเมนูอาหาร ขั้นตอนการทำอาหาร ต่าง ๆ จะทำให้เด็กรู้สึกสนุกและอยากกินอาหารที่เขาทำ

กฤษฎี กล่าวว่า คุณแม่ควรจัดอาหารว่างให้ห่างจากมื้ออาหารหลักประมาณ 2-3 ชั่วโมง และเป็นอาหารว่างที่ไม่อิ่มท้องจนเกินไป เมื่อลูกรู้สึกหิวจะยอมกินเอง ส่วนอาหารว่างนั้นถือว่าจำเป็นเช่นกันเพราะเด็กมีกระเพาะเล็กกว่า และใช้พลังงานในการทำกิจกรรมค่อนข้างเยอะ สำหรับกรณีลูกไม่กินผักคุณแม่ต้องมีเทคนิคจูงใจด้วยการพลิกแพลงเมนูผักให้หลากหลาย ปรุงรสชาติให้กลมกล่อม เลือกสีสันของจานชามเพื่อดึงดูดเด็ก อีกทั้งทุกคนในบ้านควรเป็นแบบอย่างในการกินผักจนเป็นนิสัย ในส่วนการกินวิตามินเสริมในเด็กควรปรึกษาแพทย์ เพราะถ้าลูกกินผักผลไม้นมและเนื้อสัตว์เองได้ ก็ไม่จำเป็นต้องทานวิตามินเสริม แต่ถ้าจำเป็นจริง ๆ ควรกินวิตามินรวมแทน อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ละเลยอาหารหลักที่ต้องกินให้ครบทุกหมู่ด้วย

“อาหารเช้าถือเป็นมื้อสำคัญมาก บางครอบครัวมีชีวิตค่อนข้างรีบเร่งทำให้ไม่ได้กินอาหารเช้า ซึ่งเป็นสิ่งผิด เนื่องจากลูกได้รับอาหารครั้งสุดท้ายคือมื้อเย็น น้ำตาลในเลือดจึงต่ำมากในตอนเช้า สมองต้องการพลังงานโดยเฉพาะจากคาร์โบไฮเดรต อาจทำให้เด็กบางคนมีอาการซึม และส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รวมถึงเกิดปัญหาโรคอ้วน เพราะเด็กที่ไม่กินอาหารเช้าจะหิวช่วงบ่ายและทำให้กินมื้อเย็นมากขึ้น แต่ถ้าลูกกินอาหารที่เหมาะสมจะทำให้มีสมาธิ มีพลังงานไม่เหนื่อยง่ายและตอบสนองได้ดี สำหรับเมนูของครอบครัวที่ไม่ค่อยมีเวลาเตรียมมื้อเช้านั้น แนะนำว่าคุณแม่ควรเตรียมเมนูที่ไม่ต้องใช้เวลานาน เช่น ขนมปังปิ้งกับนม, ข้าวไข่เจียว หรือแซนด์วิชทูน่า” กฤษฎี กล่าว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น