แม้จะไม่ใช่อาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรง เฉกเช่น กระสุนปืน หรือลูกระเบิด แต่เจ้าผลิตภัณฑ์กลม ๆ ดำ ๆ นามว่า “ยางรถยนต์” ที่ เป็นอีกหนึ่งอาวุธสำคัญที่มีคนกล่าวถึงกันมากในช่วงเหตุการณ์ไม่สงบที่ผ่านมาก็เรียกได้ว่า มีผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์มากมายไม่แพ้กันหากต้องสูดดมควันพิษจากการถูกเผาเป็นเวลานาน ๆ
เป็นที่ทราบกันดีว่า “ยางรถยนต์” มีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนของรถยนต์ เป็นส่วนที่แบกรับน้ำหนักทั้งหมดของรถยนต์ ช่วยบังคับทิศทาง ช่วยลดแรงกระแทก หรือแม้กระทั่งมีส่วนช่วยในการประหยัดน้ำมัน...
ยางเส้นดำ ๆ ที่ใช้กันอยู่นั้น หากมองดูเผิน ๆ แล้วไม่น่าจะทำยากอะไร แต่ในความเป็นจริง กรรมวิธี ขั้นตอนการผลิตมีความรัดกุมอย่างยิ่ง โดยกว่าจะได้ยางออกมาสักเส้นหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ก้องเกียรติ ทีฆมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ช่วยไขข้อข้องใจให้ฟังว่า การผลิตยางมีขั้นตอนแรก คือ การเตรียมชิ้นส่วน เป็นการผสมวัตถุดิบ ซึ่งมีส่วนผสมกว่า 30 ชนิด ผสมรวมกัน โดยส่วนประกอบที่สำคัญจะเป็น ยางธรรมชาติ ที่ทำจากยางพารา ซึ่ง 80 เปอร์เซ็นต์ มาจากภูมิภาคในอาเซียน ทั้ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย มีคุณสมบัติช่วยถ่ายเทความร้อน ทำให้ยาง มีความยืดหยุ่นทนต่อแรง กระแทกได้ดี
นอกจากนั้น ยังมี ยางสังเคราะห์ เป็นส่วนประกอบ เพื่อให้ยางทนต่อความร้อนเพราะถ้าใช้ยางธรรมชาติอย่างเดียวเมื่อเจออากาศร้อนจะไม่สามารถทนต่อสภาพภูมิอากาศได้ยางจะอ่อนตัวลง อีกส่วนประกอบหนึ่ง คือ ผงเขม่า ช่วยทำให้โมเลกุลจับตัวกันแน่นมากขึ้น ทำให้ยางมีความแข็งแรงทนต่อการสึกและรอยขีดข่วนต่าง ๆ เป็นที่มาและเหตุผลสำคัญที่ทำให้ยางรถยนต์มีสีดำ
“ยางแต่ละชนิดนั้น จะมีส่วนประกอบที่ต่างกัน อย่าง ยางรถบรรทุก จะมี สัดส่วนของยางธรรมชาติมากกว่ายางสังเคราะห์ หรือยางเครื่องบิน ที่ต้องใช้ในสภาพแวดล้อมที่มีความร้อนสูงหรือรับน้ำหนักมาก จะต้องใช้ยางธรรมชาติมากกว่ายางสังเคราะห์ ส่วนยางรถเก๋ง จะมีส่วนประกอบของยางสังเคราะห์มากกว่ายางธรรมชาติ เพราะรถมีน้ำหนักเบาและใช้ความเร็วที่ไม่สูงมาก”
ต่อมาส่วนผสมที่ได้จะถูกนำไป เข้าเครื่องรีดให้ออกเป็นแผ่นสี ดำ ๆ บาง ๆ เพื่อนำไปเคลือบกับขดลวดและผ้าใบ ทำให้หน้ายางมีความแข็งแรง และช่วยให้การหมุนของล้อมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยมีขอบลวดซึ่งทำหน้าที่รัดยางเข้ากับกระทะล้อที่ถูกสร้างด้วยการนำเส้นลวดมาวาง เรียงเป็นแผ่นแล้วเคลือบด้วยยาง จากนั้น นำไปพันทับขดเป็นวงตามขนาดล้อแล้วใช้เส้นใยมาพันรอบเพื่อให้ขดลวดแข็งแรง คงรูป ก่อนนำไปประกอบกับชิ้นอื่น
“ขอบลวดนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับร่างกายมนุษย์จะเป็นส่วนของกระดูกสันหลัง เมื่อหน้ายางผลิตเสร็จแล้วส่วนประกอบทุกอย่างจะถูกยึดกับขอบลวดที่กระทะล้อทั้งหมด ถ้ามีการกระทบกระเทือนในส่วนนี้โครงสร้างของยางจะยุบตัวทันที ฉะนั้นเส้นรอบ วงของยางจึงมีความสำคัญมาก”
เมื่อได้หน้ายางที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การสร้างยาง เป็นการขึ้นรูปตัวยางโดยจะมีแม่พิมพ์ หลังจากที่ขึ้นรูปยางแล้ว อย่าเข้าใจผิดคิดว่า ยางจะมีหน้าตาเหมือนกับที่เราเห็นทั่ว ๆ ไป แต่จะมีลักษณะกลม เกลี้ยง และเรียบทั้งเส้น โดยจะเรียกยางที่ยังไม่ได้อบนี้ว่า ยางดิบ หรือ กรีน ไทร์ (Green Tire)
จากนั้น จะเอา กรีน ไทร์ เข้าไป อบในเตาอบ โดยในเตาอบจะมีแม่พิมพ์ใส่ไว้เพื่อให้รู้ว่ายางที่ทำนั้นเป็นยางรุ่นอะไร เช่น ยางรุ่นเอ็กเซอร์เลนท์ แม่พิมพ์ก็จะเป็น รุ่นเอ็กเซอร์เลนท์ด้วย ใช้เวลาอบประมาณ 15 นาที ขึ้นอยู่กับขนาดของยาง ถ้ายางมีขนาดใหญ่ก็ต้องใช้เวลาอบนานขึ้น
เมื่อยางได้รับความร้อนจะหลอมเข้าไปอยู่ในแม่พิมพ์ทำให้เกิดร่องยางขึ้น เมื่ออบ เสร็จจึงได้ยางที่มีดอกยาง จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอน การตรวจสอบคุณภาพ เช่น ยาง กลมและมีน้ำหนักตามที่กำหนดไว้หรือไม่ รวมทั้ง ตรวจสอบค่าถ่วงยาง โดยตรวจสอบดูว่า ยางมีน้ำหนักเท่ากันทุกจุดหรือไม่ เพราะถ้ายางมีน้ำหนักไม่เท่ากัน ทุกจุดเวลาวิ่งรถจะสั่น เมื่อได้ ยางตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ก็จะจัดเก็บต่อไป
ทุกขั้นตอนมีความสำคัญหมด โดยเฉพาะขั้นตอนแรก เพราะถ้าทำไม่ได้มาตรฐาน ทำไม่ดี ขั้นตอนต่อไปถึงจะทำต่อก็ไม่มีประโยชน์ ผลออกมาก็เป็นยางที่ไม่ได้คุณภาพอยู่ดี ฉะนั้น ต้นน้ำมีความสำคัญ แต่ในทุกขั้นตอนของการผลิตยางจะมีการควบคุม คุณภาพอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้มาตรฐานจะเอาออกทันที ไม่ฝืนทำต่อ
“ส่วนยางที่ไม่ได้มาตรฐาน การควบคุมทำได้โดยการตัดแก้มยางออกให้เป็นของเสียก่อนที่จะขาย เพื่อป้องกันคนที่มารับซื้อไปนำไปขายต่อ สำหรับยางเก่าหรือยางที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านั้น บางรายก็นำไปใช้ที่ท่าเรือเพื่อใช้กันกระแทก บางรายนำไปเผาแล้วขายให้กับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย เนื่องจากยางเป็นเชื้อเพลิงที่ดี โดยบริษัทปูนซิเมนต์ไทยจะเอาไปเผาเพื่อเป็นเชื้อ เพลิง โดยนำความร้อนที่ได้ไปต้มน้ำเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม แต่ก่อนที่จะนำยางไปเผาจะมีกระบวนการแยกชิ้นส่วนของยางก่อน โดยตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ แยกผ้าใบและเหล็กที่อยู่ด้านในออก เพราะไม่ได้เป็นเชื้อเพลิงที่ดี แต่เชื้อเพลิงที่ดีคือ ยางที่เป็นสีดำ ๆ
บางราย นำไปทำเป็นส้นรองเท้า ที่เพาะเลี้ยงกบ ก็มี บางรายนำไปทำเป็นสนามเด็กเล่น โดยการนำไปหลอมใหม่ทำเป็นแผ่น ๆ ไม่ใหญ่มากนำมาวางรองบนพื้นกันกระแทกไม่ให้เด็กหกล้มแล้วเจ็บ รวมทั้งนำไป ทำเป็นกระถางต้นไม้ และปะการังเทียม ตลอดจนนำไปใช้ในสนามแข่งรถเพื่อ กันกระแทกบริเวณขอบสนาม และนำไปทำเก้าอี้นั่ง ซึ่งในต่างจังหวัดจะพบเห็นบ่อย บางรายมีการนำยางไปรีไซเคิลกลับมาเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง แต่มีราคาค่อนข้างสูง ตรงนี้คงต้องมีการศึกษาต่อไป”
อายุของยาง 1 เส้น อยู่ที่ประมาณ 4 ปี หลังจากลงล้อแล้ว ขึ้นอยู่กับการใช้งาน เมื่อยางหมดอายุหรือต้องการเปลี่ยนยางรถยนต์ใหม่ ยางที่ไม่ใช้แล้วเหล่านั้นจะถูกเรียกว่า ยางเก่า หรือ ยางเปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะซื้อ-ขายกันในราคาตั้งแต่ 100-800 บาท ขึ้นอยู่กับสภาพของยาง ไม่มีมาตรฐานกำหนด ที่แน่นอน เช่น ถ้าดอกยางยังลึกอยู่จะขายได้เส้นละ 500-600 บาท ถ้าใช้ไปได้แค่ปีเดียวยางยังอยู่ในสภาพที่ดีก็อาจจะขายได้ถึง 800 บาท
“ที่เรียกว่า ยางเปอร์ เซ็นต์ นั้นในส่วนของผู้ผลิต เวลาร้านค้าส่งยางเข้ามาคืนโดยบอกว่ายางมีปัญหาบางครั้งทางผู้ผลิตก็จะคืนเงินกลับไป ขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์ของหน้ายางที่เขาใช้ไปอย่าง สมมุติว่า หน้ายางมีความหนาอยู่ที่ 5 มิลลิเมตร ราคาเส้นละ 1,000 บาท นั่นคือทุก 1 มิลลิเมตร จะมีค่าเท่ากับ 200 บาท เมื่อนำมาขายตรวจดูแล้วยางเหลือความหนาประมาณ 2 มิลลิเมตร ก็จ่ายให้ยางเส้นนั้น 400 บาท จึงเรียกว่า ยางเปอร์เซ็นต์ คือ จ่ายตามสภาพยางที่เหลือ หรือความสมบูรณ์ของยางที่เหลืออยู่”
ก้องเกียรติ กล่าวด้วยความห่วงใยว่า ด้านการดูแลยางก็ไม่ควรมองข้าม ลมยาง เป็นสิ่งที่สำคัญที่ควรตรวจเช็กเป็นประจำ เติมลมให้ เหมาะสม ซึ่งโดยปกติ ทางผู้ผลิตจะติดคำแนะนำไว้ตรงบริเวณประตูรถหรือฝาน้ำมัน เพราะ ลมยางที่อ่อนไป เป็นศัตรูตัวร้ายที่สุดของยาง โดยยางด้านนอกจะสึกมากกว่ายางด้านใน และที่มากไปกว่านั้น คือ ความร้อนส่วนเกินจะมากขึ้น ทำให้ยางมีความทนทานน้อยลง ยางที่อ่อนจะทำให้รถทำงานหนัก และสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้น
ส่วน การสูบลมยางที่มากเกินไป จะทำให้ส่วนกลางของดอกยางรับน้ำหนักของรถมากกว่าส่วนอื่น ทำให้ส่วนนั้นเกิดการสึกมาก กว่าส่วนอื่น ส่งผลให้ยางนั้นมีเสียงและรถสั่นในขณะที่วิ่ง
สำหรับการผลิตยางรถยนต์ในอนาคตกำลังมีการ คิดค้น วิจัย และพัฒนา เทคโนโลยี ในการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติให้มากขึ้น เพื่อจะได้ไม่เกิดมลพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มากขึ้น.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น