ในช่วงเวลาที่บ้านเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร้อนระอุ ปัญหาหนึ่งพบได้มาก และเชื่อเหลือเกินว่าจะยิ่งพบได้มากขึ้น นั่นก็คือ..ความเครียด
ความเครียดเป็นอาการของโรคชนิดหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย อาการเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อของร่างกายหลายส่วนหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น การทรงตัว การเคลื่อนไหวต่าง ๆ มีการศึกษาพบว่า ทุกครั้งที่เราคิดหรือมีอารมณ์บางอย่างเกิดขึ้นจะต้องมีการหดตัว เคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อแห่งใดแห่งหนึ่งในร่างกายเกิดขึ้นควบคู่กันเสมอ
ความเครียดมีทั้งดีและไม่ดีต่อตัวเอง กล่าวคือ หากเครียดจนเกินไปจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อาทิ
หัวใจเต้นเร็วและแรงขึ้น หายใจเร็วขึ้น ม่านตาขยายเพื่อรับแสงได้มากขึ้น กล้ามเนื้อหดเกร็งเพื่อเตรียมการเคลื่อนไหว เส้นเลือดบริเวณอวัยวะย่อยอาหารหดตัว เหงื่อออกมากขึ้น เนื่องจากมีการ เผาผลาญอาหารมากขึ้น จนทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น
แต่เมื่อความเครียดได้รับการบรรเทาลง ร่างกาย รวมไปถึงการใช้ชีวิตก็จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่ความเครียดที่เป็นอันตราย ก็คือ ความเครียดที่เกิดขึ้นมากเกินความจำเป็น เมื่อเกิดแล้วคงอยู่เป็นประจำ ไม่ลดหรือหายไป แนวทางการรักษาโดยการมาพบแพทย์ จึงเป็นสิ่งสำคัญ
สำหรับความเครียดเมื่อสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนแล้ว ผลที่เกิดขึ้นก็จะมีความแตกต่างกันไป ตามแต่สาเหตุของการเกิดขึ้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงผลที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดความเครียดโดยทั่วไปที่พบได้ ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1. ผลต่อสุขภาพทางกาย ได้แก่ อาการไม่สบายทางกาย ต่าง ๆ เช่น ปวดหัว ปวดเมื่อยตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ความผิดปกติของหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคกระเพาะ อาการท้องผูก ท้องเสียบ่อย ๆ นอนไม่หลับ หอบหืด เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
2. ผลต่อสุขภาพจิต ซึ่งนำไปสู่ความวิตกกังวล ซึมเศร้า ความกลัวอย่างไร้เหตุผล อารมณ์ไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงง่าย รวมถึงอาจมีโรคประสาทบางอย่างเกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ ความเครียดที่ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ ย่อม ส่งผลไปถึงประสิทธิภาพในการทำงาน ส่งผลถึงสัมพันธภาพต่อครอบครัว และบุคคลแวดล้อมอีกด้วย และเมื่อประสิทธิภาพในงานตกต่ำ สัมพันธภาพแย่ลง จิตใจย่อมได้รับผลตึงเครียดมากขึ้นซ้ำซ้อน ทำให้เป็นภัยต่อชีวิตเป็นอย่างยิ่ง
สาเหตุของความเครียดที่สำคัญ มักเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุปัจจัย ต่อไปนี้คือ สาเหตุส่วนใหญ่ที่พบ
สภาพแวดล้อมทั่วไป เช่น มลพิษ ระดับเสียงที่ดังเกินไปจากเครื่องจักร เครื่องยนต์ อากาศเสียจากควันท่อไอเสีย น้ำเสีย ฝุ่นละออง ยาฆ่าแมลง การอยู่กันอย่างเบียดเสียด เป็นต้น สภาพเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมทางสังคม เช่น การสอบแข่งขันเข้าเรียน เข้าทำงาน เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง
นิสัยในการกิน ดื่มที่ส่งเสริมความเครียด เช่น ผู้ที่ดื่มกาแฟบ่อย ๆ สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ตลอดจนรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล มาก ๆ มีสัมพันธภาพกับคนอื่น ๆ ที่ไม่ราบรื่น มักมีข้อขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้งกับคนอื่นเป็นปกติวิสัย ความรู้สึกว่าตนเองต่ำต้อยกว่าคนอื่น ต้องพยายามต่อสู้เอาชนะ ต้องการมีอำนาจเหนือผู้อื่น
สาเหตุการเกิดความเครียด ยังอาจเกิดจากอุปนิสัยหรือวิธีการดำเนินชีวิตในคนที่มีลักษณะดังนี้ คนที่ชอบแข่งขันสูง ชอบท้าทาย ชิงดีชิงเด่นเอาชนะ, คนที่เข้มงวด เอาจริงเอาจังกับทุกอย่างไม่มีการผ่อนปรน, คนที่พยายามทำอะไรหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน, คนที่มีอารมณ์รุนแรงอัดแน่นในใจเป็นประจำ, คนที่ใจร้อน จะทำอะไรต้องให้ได้ผลทันทีไม่ชอบรอนาน
การลดความเครียด มีข้อแนะนำดังต่อไปนี้
1. การใช้ยา เช่น ยาหม่อง ยาดม ยาแก้ปวด ยาลดกรดในกระเพาะ ยากล่อมประสาท แต่วิธีการดังกล่าวไม่ได้แก้ไขความเครียดที่ต้นเหตุ อาจทำให้ความเครียดนั้นเกิดขึ้นได้อีก วิธีที่ดีที่สุดคือ วิธีแก้ไขที่ต้นเหตุ ได้แก่ แก้ไขเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่เอื้ออำนวยให้เกิดความเครียด เช่น งานอดิเรกที่ชอบ ฝึกออกกำลังกาย บริหารร่างกายแบบง่าย ๆ ฟังเพลง เป็นต้น
2. เปลี่ยนแปลงนิสัยและทัศนคติต่อการดำเนินชีวิต เช่น ลดการแข่งขัน ผ่อนปรน ลดความเข้มงวด ในเรื่องต่าง ๆ
3. หาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโภชนาการ เช่น รู้ว่าอาหาร เครื่องดื่มบางประเภท ช่วยส่งเสริมความเครียด
4. สำรวจและเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อตัวเองและผู้อื่น เช่น มองตัวเองในแง่ดี มองผู้อื่นในแง่ดี รวมทั้งสำรวจและปรับปรุงสัมพันธ ภาพต่อคนในครอบครัวและสังคมภายนอก
5. ฝึกผ่อนคลายโดยตรง เช่น การฝึกหายใจให้ถูกวิธี การฝึกสมาธิ การออกกำลังกายแบบง่าย ๆ การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การนวด การสำรวจ ท่านั่ง นอน ยืน เดิน การใช้จินตนาการนึกภาพที่รื่นรมย์
ดังนั้น เมื่อเกิดความเครียดขึ้นมา ลองพยายามนึกทบทวน ดูว่า สาเหตุความเครียดเกิดจากอะไร และเลือกใช้วิธีลดความเครียดดังที่กล่าวมา วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธีร่วมกัน ก็อาจทำให้ความเครียดผ่อนคลายลงได้.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น