วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

หืด

หืดเป็นโรคเรื้อรังที่มีมาแต่นมนาน ทำให้เกิดอาการหายใจหอบเหนื่อยเป็นครั้งคราว และอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้อย่างรุนแรง หรือขาดการดูแลรักษาที่เหมาะสม ทางการแพทย์ได้พัฒนาวิธีการบำบัดรักษาตามความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ ในปัจจุบัน พบว่าโรคหืดเป็นโรคที่มีภาวะการอักเสบของเยื่อบุหลอดลมอย่างเรื้อรังร่วมด้วย การรักษาจึงเน้นที่การใช้ยาควบคุมการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม ได้แก่ ยาสตีรอยด์ชนิดสูด เป็นสำคัญ

♦ ชื่อภาษาไทย หืด, หอบหืด, หืดหลอดลม
♦ ชื่อภาษาอังกฤษ Asthma
♦ สาเหตุ
เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุหลอดลม ทำให้หลอดลมมีความไวต่อสิ่งเร้าต่างๆ มากกว่าคนทั่วไป เป็นเหตุให้เกิดการหดเกร็งของหลอดลม เนื้อเยื่อผนังหลอดลมบวมและหลั่งเมือก (เสมหะ) ออกมามาก มีผลโดยรวมทำให้รูหลอดลมตีบแคบลง เกิดอาการหายใจหอบเป็นครั้งคราว ซึ่งมักจะทุเลาได้หลังให้ยารักษา

บางรายแม้ว่าจะหายหอบแล้ว แต่ก็อาจมีการอักเสบของหลอดลมอย่างต่อเนื่องเป็นแรมปีโดยไม่มีอาการผิดปกติให้ผู้ป่วยสังเกตเห็นก็ได้ หากไม่ได้รับการรักษาด้วยการควบคุมการอักเสบของหลอดลมอย่างถูกต้อง โครงสร้างของหลอดลมจะค่อยๆ เกิดการเปลี่ยนแปลง จนมีความผิดปกติอย่างถาวร ทำให้เกิดภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจอย่างถาวรได้

ผู้ที่เป็นโรคหืด มักมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ (เช่น หวัดภูมิแพ้ ผิวหนังอักเสบ (ผื่นคัน) จากภูมิแพ้) ร่วมด้วย และมักมีพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือญาติพี่น้องเป็นโรคหืดหรือโรคภูมิแพ้อื่นๆ ร่วมด้วย

สาเหตุกระตุ้น
ผู้ป่วยมักมีอาการกำเริบเมื่อมีสิ่งเร้าหรือสาเหตุกระตุ้น ที่พบบ่อยได้แก่
- สารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองหญ้า วัชพืช ละออง เกสรดอกไม้ ไรฝุ่นบ้าน (พบอยู่ตามพรม ที่นอน เฟอร์นิเจอร์ หรือของเล่นที่ทำด้วยนุ่น หรือเป็นขนๆ) เชื้อรา (พบสปอร์ตามพุ่มไม้ ในสวน ห้องน้ำ ห้องครัว ในที่ชื้น) แมลงสาบและสัตว์เลี้ยงในบ้าน (สารก่อภูมิแพ้อยู่ในน้ำลาย ขุยหนังที่ลอกหรือรังแค ขนสัตว์ ปัสสาวะและ มูลสัตว์) อาหาร (ได้แก่ นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว ไข่ กุ้ง หอย ปู ปลา ถั่วลิสง งา สีผสมอาหาร สารกันบูด ในอาหาร)
- สิ่งระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย ควันไฟ ควันธูป ฝุ่นละออง มลพิษในอากาศ (ก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ของรถยนต์ ก๊าซโอโซนที่พบมากในเมืองใหญ่) สเปรย์ ยาฆ่าแมลงหรือวัชพืช อากาศเย็นหรืออากาศเปลี่ยน กลิ่นฉุนๆ สารเคมี (ภายในบ้าน ที่ทำงาน และโรงงาน)
- ยา ได้แก่ แอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นบีตา
- การติดเชื้อของทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ เป็นต้น
- การออกกำลังกาย อาจชักนำให้เกิดอาการหอบหืดกำเริบในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายจนเหนื่อยหรือหักโหมเกินไป
- ความเครียดทางจิตใจ เช่น ความเครียด จากปัญหาเศรษฐกิจ การงาน ครอบครัว รวมทั้งอารมณ์ซึมเศร้า ความเศร้าโศกจากการสูญเสียคนที่รัก เป็นต้น
- ฮอร์โมนเพศ พบว่าผู้หญิงระยะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ระยะก่อนมีประจำเดือน หรือขณะตั้งครรภ์ มักมีโรคหืดกำเริบ (ในช่วงสัปดาห์ที่ 24-36 ของการตั้งครรภ์)
- โรคกรดไหลย้อน น้ำย่อยหรือกรดที่ไหลย้อนลงไปในหลอดลมอาจทำให้โรคหืดกำเริบได้บ่อย

♦ อาการ
มักมีอาการแน่นอึดอัดในหน้าอก หรือหอบเหนื่อย ร่วมกับมีเสียงดังวี้ดคล้ายเสียงนกหวีด (ระยะแรกจะได้ยินช่วงหายใจออก ถ้าเป็นมากขึ้นจะได้ยินทั้งช่วงหายใจเข้าและออก) อาจมีอาการไอ ซึ่งมักมีเสมหะใสร่วมด้วย

บางรายอาจมีเพียงอาการแน่นอึดอัดในหน้าอก หรือไอเป็นหลัก โดยไม่มีอาการอื่นๆ ชัดเจนก็ได้ อาการไอดูคล้ายไข้หวัด หวัดภูมิแพ้ หรือหลอดลมอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรกเริ่มของโรคนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการไอมากตอนกลางคืนหรือเช้ามืด ในช่วงอากาศเย็นหรืออากาศเปลี่ยน หรือวิ่งเล่นมากๆ เด็กเล็กอาจไอมาก จนอาเจียนออกมาเป็นเสมหะเหนียวๆ และรู้สึกสบายหลังอาเจียน
ผู้ป่วยอาจมีอาการภูมิแพ้ เช่น คัดจมูก คันคอ เป็นหวัด จาม หรือผื่นคันร่วมด้วย หรือเคยมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อน

ในรายที่เป็นเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง มักจะมีอาการเป็นครั้งคราว และมักกำเริบทันทีเมื่อมีสาเหตุกระตุ้น ผู้ป่วยที่มีอาการหายใจลำบากจะลุกขึ้นนั่งฟุบกับโต๊ะหรือพนักเก้าอี้และหอบตัวโยน

ในรายที่เป็นรุนแรงมักมีอาการต่อเนื่องตลอดทั้งวันจนกว่าจะได้ยารักษา จึงจะรู้สึกหายใจโล่งสบายขึ้น
ในช่วงที่ไม่มีอาการกำเริบ ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายเช่นคนปกติทั่วไป

ผู้ป่วยบางรายที่เป็นโรคหืดรุนแรง เช่น เคยหอบรุนแรงจนต้องไปรักษาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลบ่อย เคยต้องใส่ท่อหายใจช่วยชีวิต ต้องใช้ยาสตีรอยด์ชนิดกินหรือฉีด หรือต้องใช้ยากระตุ้นบีตา 2 ชนิดออกฤทธิ์สั้น สูดมากกว่า 1-2 หลอด/เดือน ถ้าขาดการรักษาหรือ ได้รับยาไม่เพียงพอในการควบคุมอาการ อาจมีอาการหอบอย่างต่อเนื่องเป็นชั่วโมงๆ ถึงวันๆ แม้จะใช้ยารักษาตามปกติที่เคยใช้ ก็ไม่ได้ผล เรียกว่าภาวะหืดดื้อ หรือหืดต่อเนื่อง (status asthmaticus) ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจลำบาก ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนและมีการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดภาวะเลือดเป็นกรด มีอาการสับสน หมดสติ ในที่สุดหยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้น เสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว

อาการที่เข้าข่ายเป็นโรคหอบหืด
ควรสงสัยว่าเป็นโรคหืด ถ้าผู้ป่วยมีอาการข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- มีเสียงหายใจดังวี้ดคล้ายเสียงนกหวีดบ่อยครั้ง คือมากกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
- มีอาการไอ รู้สึกเหนื่อยง่าย หรือมีเสียงหายใจดังวี้ดขณะวิ่งเล่น หรืออกกำลังกาย
- ไอตอนกลางคืน โดยที่ไม่ได้เป็นโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจ
- มีอาการต่อเนื่องหลังอายุ 3 ขวบ
- อาการกำเริบหรือเป็นมากขึ้น เมื่อมีสิ่งเร้าหรือสาเหตุกระตุ้น เช่น ละอองเกสร ขนสัตว์ สเปรย์ บุหรี่ ไรฝุ่นบ้าน ยา การติดเชื้อทางเดินหายใจ ออกกำลังกาย ความเครียด
- เวลาเป็นไข้หวัดมีอาการต่อเนื่องนานเกิน 10 วัน หรือมีอาการไอรุนแรง หรือไอนานกว่าคนอื่นที่เป็นไข้หวัด
- อาการดีขึ้นเมื่อใช้ยารักษาโรคหืด
- มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคหืดหรือโรคภูมิแพ้อื่นๆ เช่น หวัดภูมิแพ้ ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้

♦ การแยกโรค
อาการไอ หรือหอบเหนื่อยเรื้อรัง อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
- หวัดภูมิแพ้ ผู้ป่วยจะมีอาการคันคอ คันจมูก จาม ไอ เวลาสัมผัสถูกสิ่งแพ้ (สารก่อภูมิแพ้) โดยไม่มีอาการหอบเหนื่อย
- หลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการไอมีเสมหะ มักเป็นหลังจากเป็นไข้หวัด ซึ่งจะเป็นนานๆ ครั้ง อาจมีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
- ถุงลมปอดโป่งพอง ผู้ป่วยมักมีอาการตอนอายุมาก (40-50 ปีขึ้นไป) และมีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน โดยมีอาการไอและหอบเหนื่อยอยู่เรื่อยๆ อย่างเรื้อรัง จะหอบเหนื่อยมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวทางกาย เช่น เดิน วิ่ง ยกของหนัก เป็นต้น
- หัวใจวายเรื้อรัง ผู้ป่วยมักมีอาการหอบเหนื่อย (ซึ่งจะเป็นมากเวลานอนราบ) ร่วมกับเท้าบวมทั้ง 2 ข้าง

♦ การวินิจฉัย
แพทย์มักจะวินิจฉัยจากประวัติการเป็นโรคหืด โรคภูมิแพ้อื่นๆ มาก่อน หรือมีญาติพี่น้องเป็นโรคเหล่านี้ร่วมด้วย และจากการตรวจร่างกาย มักพบมีเสียงหายใจดังวี้ดกระจายทั่วไปที่ปอด 2 ข้าง
ในรายที่ไม่แน่ใจ อาจทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นหัวใจ ตรวจสมรรถภาพของปอด ทดสอบว่าแพ้สารอะไร เป็นต้น

♦ การดูแลตนเอง
หากมีอาการสงสัยว่าเป็นโรคหืด (เช่น ไอเรื้อรัง หายใจหอบเหนื่อย) ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่แน่ชัด

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคหืด ควรปฏิบัติดังนี้
- ติดตามรักษากับแพทย์เป็นประจำ และตรวจสมรรถภาพของปอดเป็นระยะ เรียนรู้วิธีใช้ยาให้ถูกต้องและใช้ยาตามขนาดที่แพทย์แนะนำ อย่าลดละยาตามอำเภอใจ หรือเลิกไปพบแพทย์ แม้ว่าจะรู้สึกสบายดีแล้วก็ตาม
- ควรพกยาบรรเทาอาการติดตัวไปเป็นประจำ หากมีอาการกำเริบให้รีบสูดยา 2-4 ครั้งทันที ถ้าไม่ทุเลาอาจสูดซ้ำทุก 20 นาที อีก 1-2 ครั้ง แต่ถ้าไม่ได้ผล ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าปล่อยให้หอบนาน อาจเป็นอันตรายได้
- ควรดื่มน้ำอุ่นมากๆ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่ไอมีเสมหะเหนียว หรือมีอาการหอบเหนื่อย
- ทุกครั้งที่สูดยาสตีรอยด์ที่แพทย์สั่งใช้ ควรบ้วนปากด้วยน้ำสะอาดทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ยาตกค้างที่คอหอย ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเชื้อราในช่องปาก
- อย่าซื้อยาชุด หรือยาลูกกลอนมาใช้เอง เพราะยาเหล่านี้มักมีสตีรอยด์ผสม แม้ว่าอาจจะใช้ได้ผล แต่ต้องใช้เป็นประจำ ทำให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงตามมาได้ ถ้าเคยใช้ยาเหล่านี้มานานแล้ว ห้ามหยุดยาทันที อาจทำให้อาการหอบกำเริบรุนแรง หรือเกิดภาวะช็อกจากการขาดยาเป็นอันตรายได้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อหาทางค่อย ๆ ปรับลดยาลงอย่างปลอดภัย
- ฝึกหายใจเข้าออกลึกๆ เป็นประจำ โดยการเป่าลมออกทางปาก ให้ลมในปอดออกให้มากที่สุด
- ควรสังเกตว่ามีสาเหตุกระตุ้นจากอะไร แล้วหลีกเลี่ยงเสีย (ดูหัวข้อ "การป้องกัน")

♦ การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาตามความรุนแรงของโรค ดังนี้
1. ถ้ามีอาการเล็กน้อย (มีอาการหอบตอนกลางวัน สัปดาห์ละ 2 ครั้งหรือน้อยกว่า ไม่มีอาการหอบตอนกลางคืน และสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ) แพทย์จะให้ยาบรรเทาอาการ ได้แก่ ยากระตุ้นบีตา 2 ชนิดออกฤทธิ์สั้นชนิดสูด เฉพาะเวลามีอาการหอบเหนื่อย

2. ถ้ามีอาการรุนแรงปานกลาง (มีอาการหอบตอนกลางวันมากกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือมีอาการหอบตอนกลางคืน หรือทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้น้อยลง) แพทย์จะให้ยาควบคุมโรค ได้แก่ ยาสตีรอยด์ชนิดสูด ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดการอักเสบและการบวมของผนังหลอดลม ทุกวันต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน และจะให้ยาบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยพกประจำเพื่อใช้สูดเมื่อมีอาการหอบเหนื่อย

ในรายที่ยังมีอาการกำเริบบ่อย แพทย์อาจให้ยาควบคุมโรคชนิดอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ยากระตุ้นบีตา 2 ชนิดฤทธิ์นานชนิดกิน ทีโอฟิลลีนออกฤทธิ์นานชนิดกิน ยาต้านลิงโคทรีนชนิดกิน เป็นต้น

3. ถ้ามีอาการหอบรุนแรง (ซี่โครงบุ๋ม ปากเขียว มีอาการสับสน ซึม หรือพูดไม่เป็นประโยค) หรือมีอาการหอบต่อเนื่องมานานหลายชั่วโมง หรือมีภาวะขาดน้ำร่วมด้วย แพทย์มักจะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล โดยปรับเปลี่ยนการใช้ยาให้เหมาะสม ให้ออกซิเจนและน้ำเกลือ บางรายอาจต้องใส่ท่อหายใจและเครื่องช่วยหายใจ จนกว่าจะทุเลาดี จึงจะให้ยาไปรักษาต่อที่บ้าน

นอกจากนี้ อาจต้องให้การรักษาโรคที่พบร่วม เช่น หวัดภูมแพ้ ไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ โรคกรดไหลย้อน เป็นต้น

ผู้ป่วยทุกราย แพทย์จะนัดมาติดตามดูอาการประมาณทุก 1-3 เดือน (2-4 สัปดาห์ในรายที่เป็นรุนแรง) และทำการตรวจสมรรถภาพของปอดเป็นระยะๆ

♦ ภาวะแทรกซ้อน
หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยอาจมีอาการหมดแรง (อ่อนเปลี้ยเพลียแรง) ภาวะขาดน้ำ ปอดแฟบ การติดเชื้อ (หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ) ปอดทะลุ ภาวะหัวใจล้มเหลว

ในหญิงตั้งครรภ์ ถ้าเป็นโรคหืดที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย ทารกตายระยะใกล้คลอดหรือหลังคลอด

ที่ร้ายแรงและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต คือ ภาวการณ์หายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งพบในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและขาดยารักษา

♦ การดำเนินโรค
ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมอาการได้ดี และสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ

ถ้ามีอาการเริ่มเป็นตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อโตขึ้นหรือย่างเข้าวัยหนุ่มสาว อาการอาจทุเลาจนสามารถหยุดการใช้ยาสูดบรรเทาอาการได้ แต่บางรายเมื่ออายุมากขึ้นก็อาจมีอาการกำเริบได้อีก

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีการอักเสบของหลอดลมอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ไม่มีอาการหอบเหนื่อยแล้ว

หากขาดการให้ยาควบคุมโรค (ลดการอักเสบ) ก็อาจเกิดภาวะทางเดินหายใจผิดปกติ และอุดกั้นในระยะยาวได้ ดังนั้น ถึงแม้จะมีอาการทุเลาแล้ว ก็ควรติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง

ส่วนในรายที่มีอาการมาก จำเป็นต้องได้รับยาอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง หากขาดยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาสตีรอยด์มาก่อน ก็อาจมีอาการกำเริบรุนแรงเฉียบพลัน จนเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้

♦ การป้องกัน
สำหรับผู้ป่วยโรคหืด อาจป้องกันไม่ให้มีอาการหอบหืดกำเริบโดยการปฏิบัติดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้และสิ่งระคายเคือง ทั้งในบ้าน ที่ทำงาน และสิ่งแวดล้อม ควรสังเกตว่ามักมีอาการกำเริบในเวลาใด สถานที่ใด และหลังสัมผัสถูกอะไร เช่น
- กำจัดไรฝุ่นบ้าน โดยการหลีกเลี่ยงการใช้ที่นอน หมอน ผ้าห่ม เฟอร์นิเจอร์ และของเล่นที่ทำด้วยนุ่น หรือเป็นขนๆ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรห่อหุ้มด้วยวัสดุกันไรฝุ่น
ซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งด้วยน้ำอุ่น มากกว่า 55 องศาเซลเซียส)
ไม่ควรปูพรมตามพื้นห้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในห้องนอน ถ้ายังปูพรมควรใช้เสื่อน้ำมันปูทับให้ ทั่ว ให้ขอบชิดผนังห้องทุกด้าน
- หลีกเลี่ยงการเล่นคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง (เช่น สุนัข แมว หนู นก) ถ้าเลี้ยงสัตว์เลี้ยงควรให้อยู่นอกบ้าน อย่านำเข้ามาในบ้านและห้องนอน และควรจับอาบน้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
- กำจัดแมลงสาบในบ้านโดยใช้กับดัก ถ้าใช้ยาฉีดพ่น อย่าให้ผู้ป่วยอยู่ในบ้าน เพราะยาฉีดพ่นอาจกระตุ้นให้หอบได้ ควรเก็บเศษอาหารไว้ในถุงที่มิดชิด อย่าให้แมลงสาบตอม
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อรา โดยการทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องครัว อย่าให้มีน้ำขัง ใช้พัดลมดูดอากาศ และทำให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่อับชื้อ (เช่น ห้องใต้ดิน) และพุ่มไม้ ไม่ปลูกต้นไม้ภายในบ้าน ไม่ใช้วอลเปเปอร์และพรมในห้องน้ำ
- ช่วงที่มีละอองเกสรมาก หรือตัดหญ้า ควรหลบเข้ามาอยู่ในบ้าน และปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ควรใช้เครื่องปรับอากาศ และล้างไส้กรองเดือนละครั้ง

ถ้าจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ควรให้ผู้ป่วยกินยาแก้แพ้ก่อนออกนอกบ้าน และหลังจากกลับเข้าบ้านควรอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที อย่าตากเสื้อผ้าในที่กลางแจ้ง

- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การสูดควันบุหรี่ และควันต่างๆ ควรห้ามบุคคลในบ้านสูบบุหรี่ ห้ามใช้ฟืนในการหุงต้มและผิงไฟ
- หลีกเลี่ยงการดมกลิ่นสี น้ำหอม สเปรย์ กาว น้ำยาฆ่าเชื้อ สารเคมี เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นและสารเคมีในโรงงานหรือที่ทำงาน โดยจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย และใช้อุปกรณ์ป้องกัน แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้และทำให้หอบบ่อย ควรย้ายสถานที่ทำงานหรือเปลี่ยนงานที่ไม่ต้องสัมผัสกับสาเหตุกระตุ้น

2. ควรออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เป็นต้น แต่ระวังอย่าให้หักโหมหรือเหนื่อยเกินไป ควรเตรียมยาขยายหลอดลมชนิดสูดไว้พร้อม ถ้าเคยมีอาการหอบหืดจากการออกกำลังกาย ควรใช้ยาสูดก่อนออกกำลัง 15-20 นาที และถ้ามีอาการกำเริบระหว่างออกกำลังกาย ควรหยุดพัก และใช้ยาสูด จนกว่าอาการทุเลาแล้วค่อยเริ่มออกกำลัง ใหม่

3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ และยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นบีตา เวลาพบพบแพทย์ด้วยโรคอื่น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าเป็นโรคหืดอยู่ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้

4. ควรหาทางป้องกันหรือผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ เช่น การออกกำลังกาย (โดยเฉพาะ อย่างยิ่งการฝึกโยคะ การรำมวยจีน) ทำงานอดิเรก (เช่น การปลูกต้นไม้ วาดภาพ เล่นดนตรี ฟังเพลง) สวดมนต์ ไหว้พระ ฝึกสมาธิ เจริญสติ เป็นต้น

5. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ บำรุงร่างกายด้วยอาหารสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกินผักและผลไม้ให้มากๆ ระมัดระวังป้องกันไม่ให้เป็นไข้หวัดและโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจ และควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

♦ ความชุก
โรคนี้พบได้บ่อยในคนทุกวัย มีความชุกสูงสุดในช่วงอายุ 10-12 ขวบ ส่วนใหญ่มักมีอาการเกิดขึ้นครั้งแรก ตั้งแต่อายุก่อน 5 ขวบ ส่วนน้อยที่เกิดขึ้นครั้งแรกในวัยหนุ่มสาวและวัยสูงอายุ

ในบ้านเราเคยมีการสำรวจนักเรียนในกรุงเทพฯ พบมีความชุกของโรคนี้ประมาณร้อยละ 4-13
ในวัยเด็ก พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงประมาณ 1.5-2 เท่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น