วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ธารน้ำแข็งมหึมาละลายในภูฏาน

หุบเขาในภูฏานเสี่ยงเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่จากการละลายของธารน้ำแข็ง ซึ่งจะก่อให้เกิดคลื่นสึนามิแห่งภูเขาทำลายชีวิตผู้คน

16 พ.ค.53 : การละลายของธารน้ำแข็ง ซึ่งมีขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า 53 ล้านคิวบิกเมตรในภูฏานกำลังก่ออันตราย โดยเสี่ยงที่จะทำให้ชายฝั่งของทะเลสาบแห่งหนึ่งบนยอดเขาหิมาลัยพัง และกระแสน้ำจากทะเลสาบไหลทะลักจากที่สูงลงมาสู่หุบเขา "ปูนาคา" อย่างรวดเร็วด้วยความรุนแรงไม่ต่างอะไรกับคลื่นสึนามิ แต่เป็นคลื่นสึนามิของภูเขา

นาย คินลีย์ ดอร์จี รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารของภูฏานกล่าวว่า อาจเกิด อุทกภัยครั้งใหญ่ในหุบเขาแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรราว 1 ใน 10 ของประชากรทั้งหมดภายในปี 2558 และทำลายชีวิตประชาชนมากมาย รวมทั้งป้อมโบราณอายุหลายร้อยปีของวัด ปูนาคา ดซอง ตลอดจนพื้นที่ป่าไม้ โดยรัฐบาลภูฏานได้ขอให้ลามะในวัด เร่งขนย้ายพระพุทธรูป และโบราณวัตถุ ออกมาไว้ยังสถานที่ปลอดภัย แต่ลามะไม่ยอมปฏิบัติตาม เนื่องจากเชื่อมั่นว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะคอยปกปักรักษาวัด

ภูฏานเป็นชาติ ซึ่งมีสิ่งแวดล้อมอยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และเป็นชาติหนึ่งในจำนวนเพียงไม่กี่ชาติ ที่คอยดูดซับก๊าซคาร์บอน มากกว่าการปล่อยก๊าซ อย่างไรก็ตาม ภูฏานต้องได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเช่นกัน โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ธารน้ำแข็งในภูฏานกำลังละลายราว 30 เมตรต่อปี

นอกจากวัตถุโบราณทางศาสนาแล้ว การละลายของธารน้ำแข็งในทะเลสาบ ซึ่งมีอยู่ 26 แห่ง ยังส่งผลเสียหายต่อการดำรงชีวิตของชาวภูฏาน โดยแม่น้ำหลายสายได้รับ การหล่อเลี้ยงจากธารน้ำแข็ง ซึ่งยังถือเป็นเส้นเลือดสำคัญสำหรับประชาชนอีกหลายร้อยล้านคนในพื้นที่ราบลุ่มทางตอนใต้ของแม่น้ำในภูมิภาคเอเชียใต้อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น