วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ไวรัสตับอักเสบบี เส้นทางสู่โรคตับอักเสบ

โรคตับอักเสบจากไวรัสชนิดบี เป็นโรคที่พบบ่อยในคนไทย แต่คนไทยจำนวนมากไม่รู้ตัวว่าตนมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ หรือเป็นพาหะ โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีการอาการของโรคในระยะเฉียบพลันแล้ว มีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง หรือในบางรายตรวจพบได้จากการตรวจสุขภาพ โดยการเจาะเลือดจึงรู้ว่าตนเองมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แต่ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด

สาเหตุของไวรัสตับอักเสบชนิดบี

เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1965 โดยแพทย์ชาวออสเตรเลียซึ่งต่อมาก็ทราบว่าไวรัสตัวนี้ เป็นสาเหตุของไวรัสตับอักเสบที่พบบ่อย และสามารถก่อให้เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรัง และเป็นสาเหตุของมะเร็งตับและตับแข็งได้บ่อยในคนไทย

โรคตับอักเสบจากไวรัสชนิดบี จะมีความรุนแรงมากกว่าโรคตับอักเสบจากไวรัสชนิดเอ และมีโอกาสที่จะเป็นโรคเรื้อรัง อีกทั้งเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีจะนำไปสู่มะเร็งตับได้ด้วย

อาการแสดง

ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบจากไวรัสบี จะแบ่งลักษณะอาการได้เป็น 2 แบบ ที่สำคัญได้แก่

1. ผู้ป่วยมีอาการแสดงเฉียบพลัน ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ต่อมาจะมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง อาการจะเป็นอยู่ประมาณ 4 สัปดาห์ ต่อไปผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะหายจากโรค และมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น มีเพียงส่วนน้อยที่จะเป็นตับอักเสบเรื้อรัง หรือเป็นพาหะของโรคต่อไป ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อครั้งแรกในบางราย อาจมีอาการแสดงน้อยจนผู้ป่วยอาจไม่สังเกตเห็นความผิดปกติ

2 ผู้ป่วยบางรายจะมาพบแพทย์ในระยะที่เป็นพาหะหรือตับอักเสบเรื้อรัง โดยไม่มีอาการแสดงใด ๆ นำมาก่อน ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะตรวจพบได้จากการตรวจเลือด

การติดต่อ

โรคนี้สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ

ทางเลือด ปัจจุบันพบน้อยมาก เพราะมีการตรวจหาเชื้อในเลือดก่อนนำมารักษาผู้ป่วย แต่การติดต่อทางเลือด อาจพบได้จากการสัก การเจาะหู หรือการเจาะเพื่อใส่เครื่องประดับในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย หรือจากในกลุ่มผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด โดยใช้เข็มฉีดยาที่ไม่ได้ฆ่าเชื้อ

ทางการร่วมเพศ กับผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี มารดาที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีสามารถติดต่อไปสู่ลูกได้ แต่ในปัจจุบันแพทย์จะให้วัคซีนป้องกันตับอักเสบชนิดบีแก่ทารกตั้งแต่แรกเกิดทุกรายอยู่แล้ว

การรักษา

ในผู้ป่วยที่เป็นระยะเฉียบพลัน ผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลียมาก อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ในรายที่เป็นตับอักเสบเรื้อรังหรือเป็นพาหะของโรค แพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำในการรักษา ปัจจุบันมียาที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบชนิดบี แต่ยาที่ใช้รักษาก็ยังไม่สามารถรักษาผู้ป่วยโรคนี้ให้หายขาดได้ทุกราย ยาที่ใช้รักษาจะช่วยลดจำนวนไวรัสในผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ทำให้การอักเสบของตับลดลง ทำให้โอกาสในการที่ผู้ป่วยจะกลายเป็นตับแข็งและมะเร็งตับลดลง

ยาที่ใช้ในการรักษามีทั้งยาฉีดและยากินหลายชนิด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาในการให้ยาแก่ผู้ป่วย

การดำเนินโรค

เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นพาหะและตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบชนิดบี มีโอกาสที่จะเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับต่อไปในอนาคต ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อที่แพทย์จะได้ให้คำแนะนำในการรักษาโรคนี้ต่อไป
การป้องกัน

ปัจจุบันมีวัคซีนที่ฉีดป้องกันโรคตับอักเสบชนิดบีแล้ว ดังนั้น ผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับเชื้อนี้มาก่อน หรือไม่มีภูมิต้านทานตัวโรคนี้ ควรไปขอคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันต่อไป

การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย

ผู้ป่วยควรงดดื่มสุรา งดสูบบุหรี่ ไม่ซื้อยารับประทานเอง

ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาชนิดใดเป็นเวลานาน ควรปรึกษาแพทย์ว่ายาชนิดนั้นมีผลต่อตับหรือไม่

ผู้ป่วยควรพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ทำงานหักโหม ไม่อดนอน

ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่อย่าออกแรงหนักเกินไป

รับประทานอาหารตามปกติ

ปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ

ตั้งครรภ์ และมีบุตรได้ แต่ต้องแจ้งแพทย์ตอนฝากครรภ์

1 ความคิดเห็น:

  1. Poker Room - Jackson County, OK - MJH - Travel Channel
    This is an 18-story, 512 고양 출장마사지 room property in 문경 출장샵 Jackson County, OK. 청주 출장마사지 View a detailed profile of the 논산 출장샵 structure 127728 including further data 천안 출장안마 and

    ตอบลบ