วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ควบคุมเบาหวานห่างไกลโรคแทรกซ้อน

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า “เบาหวาน” เป็นโรคเรื้อรัง ที่รักษาไม่หายขาด

โรคเบาหวานในผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่ก็เกิดจากการดื้ออินซูลิน และร่างกายหลั่งสารอินซูลินได้ไม่มากพอ ซึ่งสารอินซูลินเองก็เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อน มีหน้าที่นำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อนำไปเผาผลาญให้เป็นพลังงาน หรือเก็บสะสมไว้เป็นแหล่งพลังงานในอนาคต

ถ้าอินซูลินในร่างกายมีไม่เพียงพอหรือทำงานได้ไม่ดี จะทำให้เกิดระดับน้ำตาลในเลือดสูง และก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนหลายอย่างที่สำคัญ เช่น ตาบอด ไตวาย ปลายประสาทเสื่อม โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือใกล้เคียงปกติ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนดังกล่าวได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ผู้ป่วยเบาหวานสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและปราศจากโรคแทรกซ้อนได้ เพียงแค่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ โดยเฉพาะความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงได้อย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานจะมีมากขึ้น ผู้ป่วยเบาหวานได้รับการดูแลรักษาดีขึ้น รวมทั้งมียาหลากหลายชนิดที่เหมาะสม แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ผู้ป่วยเบาหวานยังควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีนัก อัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานยังค่อนข้างสูง ข้อมูลจากผู้ป่วยเบาหวานที่รับการรักษาในโรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุขไทย พบว่าในปี พ.ศ. 2546 ผู้ป่วยเบาหวานที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีมีเพียงหนึ่งในสามของทั้งหมดเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอีกหลายประการที่ส่งผลทำให้ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ผู้ป่วยสามารถรักษาตัวได้เองด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ผู้ป่วยบางรายคิดว่า ในเมื่อแพทย์ให้รับประทานยาแล้ว ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องควบคุมอาหาร ยาน่าจะจัดการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากว่ายามีความสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น การรับประทานอาหารโดยเฉพาะอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลมากเกินไป นอกจากจะส่งผลทำให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังทำให้ร่างกายสะสมไขมันมากขึ้นด้วยเช่นกัน หากพบว่าตัวเองมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น จะทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดยากขึ้น เนื่องจากดื้ออินซูลินมากขึ้น

ตรงกันข้ามการลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่อ้วนจะทำให้การดื้ออินซูลินลดลง การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสามารถทำได้ง่ายขึ้น คำถามที่เกิดขึ้นคือ เมื่อใดจึงเรียกว่า “อ้วน” ให้คำนวณง่าย ๆ โดยวัดน้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงวัดเป็นเมตรยกกำลังสอง ตัวเลขที่ออกมาไม่ควรเกิน 23 ถ้าเกินหรือเท่ากับ 25 จึงเรียกว่า “อ้วน” แต่หากอยู่ในระดับ 23-24.9 หมายถึงน้ำหนักเกินหรือท้วม ดังนั้นเป้าหมายของการควบคุมอาหารในผู้ป่วยเบาหวานนอกเหนือจากการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว ยังต้องเน้นการลดน้ำหนักตัวด้วย ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการลดปริมาณอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล รวมทั้งอาหารที่ให้พลังงานสูง

นอกจากการควบคุมอาหารแล้ว การออกกำลังกายก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ต้องเน้นให้ความสำคัญ การออกกำลังกายช่วยทำให้อินซูลินทำงานดีขึ้น ช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น การออกกำลังกายควรทำควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร ผู้ป่วยบางรายเข้าใจผิดว่า เมื่อออกกำลังกายแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องควบคุมอาหาร การออกกำลังกายนอกจากช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว ยังช่วยเพิ่มสมรรถภาพการทำงานของหัวใจ ช่วยทำให้ระดับไขมันในเลือดและระดับความดันโลหิตดีขึ้น แนะนำว่าให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น เดินเร็ว ๆ วิ่งช้า ๆ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เต้นรำ และควรออกกำลังกายสัปดาห์ละ 150 นาทีเป็นอย่างน้อย อาจแบ่งเป็นอย่างน้อย 3 ครั้ง ครั้งละไม่น้อยกว่า 30 นาที และไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายในโรงยิมหรือสถานที่ออกกำลังกายเฉพาะเท่านั้น สามารถประยุกต์กิจกรรมทำให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันได้ เช่น ทำสวน ทำงานบ้าน ขึ้นลงบันไดแทนลิฟต์ (ไม่แนะนำในคนที่มีปัญหาเรื่องเข่าเสื่อม) ลงรถเมล์ก่อนถึงป้าย เดินไปทำงานแทนนั่งรถ เป็นต้น

แต่ทั้งนี้กิจกรรมเหล่านี้ ต้องทำติดต่อกันและทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ ควรวางแผน จัด เวลา และเลือกชนิดของการ ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกาย

การควบคุมเบาหวาน ควรกระทำตั้งแต่เริ่มรู้ตัวว่าเป็นเบาหวาน และกระทำอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ผู้ป่วยต้องทำนอกเหนือจากการไปพบแพทย์เพื่อรับยาคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งดูเหมือนยากแต่ก็ไม่ยากเกินไปถ้าตั้งใจทำ ทั้งนี้เพื่อป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคแทรกซ้อนของเบาหวาน มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น