วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

นอนไม่หลับทำไงดี

ความผิดปกติของการนอนที่พบบ่อยที่สุดคือ “อาการนอนไม่หลับ” ซึ่งพบได้มากถึง 1 ใน 3 ของประชากรที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนไม่หลับ และยังพบในผู้หญิงได้มากกว่าในผู้ชายประมาณ 2 ต่อ 1 นอกจากนี้ยังพบได้มากขึ้นตามอายุ ใครที่เคยนอนไม่หลับ คงทราบถึงความทุกข์ทรมานของภาวะดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ถ้านาน ๆ เป็นครั้งก็ไม่น่าเป็นกังวล แต่หากเป็นบ่อย ๆ ก็แสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น

ผลเสียของการนอนไม่หลับ คนที่นอนไม่หลับจะทำให้เกิดความเจ็บป่วย ไม่สบายทางร่างกายมากกว่าปกติ โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้ หอบหืด ความดันโลหิตสูง จะพบได้มากขึ้น อาจต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยกว่าปกติ มีปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจ ตึงเครียด กังวล อารมณ์เศร้ามากกว่าเดิม มีแนวคิดที่จะฆ่าตัวตายสูง นอกจากนี้แล้ว การนอนไม่หลับยังส่งผลต่อการงาน ความสามารถทั่วไป ขาดงานบ่อยขึ้น และประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และอาจหันเข้าหาสุรา ยาเสพติดได้

ชนิดของการนอนไม่หลับ อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ คนที่หลับยาก คนกลุ่มนี้อาจใช้เวลานานเป็นชั่วโมงจึงสามารถนอนหลับได้ คนที่หลับไม่ทน คนกลุ่มนี้พอหัวค่ำอาจหลับได้ แต่ไม่นานก็จะตื่น บางคนอาจไม่หลับอีกตลอดทั้งคืน และ คนที่หลับ ๆ ตื่น ๆ คนกลุ่มนี้อาจจะมีความรู้สึกคล้ายไม่ได้หลับเลยทั้งคืน เพียงแต่เคลิ้มไปเป็นพักพักเท่านั้น..คุณล่ะเป็นคนในกลุ่มใดหรือไม่? ถ้าเป็นล่ะก็ มาดูกันว่า สาเหตุการเกิดเป็นอย่างไรกันแน่

สาเหตุที่พบบ่อย มักเกิดจากความวิตกกังวลในเรื่องต่าง ๆ เช่น อาการเจ็บปวด ไม่สบายกายจากโรคที่ประสบพบเจอ มีสิ่งรบกวนจากสภาพแวดล้อม เช่น แสงสว่าง เสียงดัง กลิ่นเหม็น เป็นต้น นอกจากนี้ ความไม่คุ้นเคยในสถานที่ อาชีพที่ทำให้เกิดนิสัยการนอนไม่แน่นอนอย่าง อาชีพพยาบาล ตำรวจ ยาม ซึ่งต้องสลับเวรไปมา สาเหตุจากความแปรปรวนของจิตใจที่ซ่อนอยู่ลึก ๆ จากการติดยา หรือสิ่งเสพติดบางประเภท เช่น สุรา ยาบ้า จากยาแก้โรคบางอย่างที่ผู้นั้นต้องกินอยู่ประจำ เช่น ยาแก้ปวดบางประเภท ยาลดความดันโลหิต เป็นต้น และการถูกฝึกเรื่องการนอนอย่างไม่เหมาะสม ก็เป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับต่าง ๆ ได้..แล้วคุณล่ะ มีอาการแบบใด?

หากถามถึงการรักษาแล้วล่ะก็..มีทั้งการรักษาด้วยยาและรักษาโดยไม่ต้องใช้ยา สำหรับวิธีการรักษาแบบไม่ใช้ยา อาจทำได้หลายวิธี ดังนี้

1. จัดเวลานอนให้สม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน

2. ควรเลิกสูบบุหรี่และเลิกการดื่มแอลกอฮอล์จัด

3. บางครั้งการเปลี่ยนฟูกที่นอนก็เป็นสิ่งจำเป็น เปลี่ยนจากอย่างแข็ง เป็นอย่างอ่อน หรือสลับกัน ควรเอาใจใส่ผ้าคลุมเตียง ไม่ให้ร้อนหรือเย็นมากเกินไป รวมทั้งเสื้อผ้าที่ใส่นอน ควรนุ่มสบาย อุณหภูมิห้องควรอยู่ในระดับ พอดี

4. การเปลี่ยนท่านอน หากเคยนอนในท่าที่ไม่สบาย

5. อาหารว่างที่ไม่หนักเกินไป อาจช่วยในการนอนหลับ เช่น น้ำส้ม นมอุ่น น้ำผลไม้อื่น ๆ

6. มื้อเย็นควรงดน้ำชา กาแฟ รวมทั้งก่อนนอน

7. การอ่านหนังสือบนเตียงนอนอาจเบนความสนใจจากความวิตกกังวล ควรเลือกรายการโทรทัศน์ที่ไม่ตื่นเต้นมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ห้องนอนและเตียงไม่ควรใช้สำหรับเป็นที่รับประทานอาหารหรือของว่างดูโทรทัศน์ หรือทำธุรกิจต่าง ๆ

8. ไม่ควรให้มีเสียงหรือแสงรบกวนจนเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการนอนหลับเป็นแบบตื่นตัวมากเกินไป อาจต้องนอนแยกกับคนที่นอนกรนเสียงดัง

9. การออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยให้หลับดีขึ้น แนะนำให้เดินเร็วตอนเย็น และให้อาบน้ำอุ่น การผ่อนคลายความตึงเครียดทางเพศอาจช่วยได้

10. พยายามนอนให้มากตามที่ร่างกายต้องการจะได้รู้สึกสดชื่น

11. หลีกเลี่ยงความพยายามอย่างจริงจังที่จะทำให้หลับ ควรมุ่งความสนใจไปที่กิจกรรมอื่น ๆ อีกประการหนึ่งการกลัวนอนไม่หลับยิ่งทำให้ไม่หลับมากขึ้น ยิ่งกลัวยิ่งไม่หลับ กลายเป็นวงจรติดต่อกันไป

12. การฝึกสมาธิ เช่น การกำหนดลมหายใจเข้าออก การสะกด จิตตนเอง การฝึกใช้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย อาจทำให้การนอนหลับดีขึ้น ถ้าปฏิบัติตามวิธีการต่าง ๆ แล้วยังนอนไม่หลับก็สมควรปรึกษาแพทย์ หรือจิตแพทย์เพื่อแก้ไขต่อไป

สำหรับการรักษาด้วยยา ในที่นี้จะหมายถึงยานอนหลับ สำหรับวิธีการรับประทานจะไม่ขอกล่าว แต่จะอธิบายถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น มีอาการง่วงซึม ลืมเหตุการณ์หลังจากใช้ยาในระยะเวลาสั้น ๆ ช่วงหนึ่งมีอาการดื้อยาคือต้องใช้ขนาดเพิ่มขึ้นจึงจะนอนหลับได้ หากใช้ยาขนาดสูงและเป็นเวลานาน ๆ อาจมีการติดยาได้ จึงควรหยุดยาเมื่อเริ่มรู้สึกว่าต้องการยาเพิ่มขึ้น สตรีมีครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรกไม่ควรกินยานอนหลับ เพราะจะมีผลต่อทารกในครรภ์ สตรีที่ให้นมบุตรควรงดการให้นมบุตรในช่วงที่กินยานอนหลับ ควรงดดื่มสุรา

ไม่ว่าการรักษาด้วยวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการนอนหลายประการที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น หรือการรักษาด้วยยา สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การตรวจวินิจฉัยและขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีอาการเข้าข่ายที่อาจบ่งบอกว่า “นอนไม่หลับ” ให้มาพบแพทย์ และไม่ควรปล่อยให้อาการเลยเถิดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น