วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ตุ๊มตุ๊ม..ต่อมต่อม..ของต่อมลูกหมาก

โรคที่เกี่ยวกับต่อมลูกหมากเป็นอีกโรคหนึ่งที่แฟนคอลัมน์ถามไถ่กันเข้ามามากมายอย่างต่อเนื่อง เมื่อหลายฉบับก่อนได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอันตรายของโรคนี้กันไปแล้ว

ฉบับนี้ คุณหมอยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับอันตรายของการเกิดโรคต่อมลูกหมาก มานำเสนอกันต่อ ติดตามกันได้เลย...

อย่างที่ทราบกันว่า อาการแสดงของโรคที่เกี่ยวข้องกับต่อมลูกหมาก มีทั้งต่อมลูกหมากโต มะเร็งต่อมลูกหมาก และต่อมลูกหมากอักเสบ ซึ่งสาเหตุของการเกิดอาการต่าง ๆ ก็มีความแตกต่างกัน ในผู้ชายที่มีอายุมากขึ้นอาการต่อมลูกหมากโตถือเป็นการเปลี่ยนแปลงตามปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยมีปัจจัยการเกิดที่แตกต่างกัน ทั้งการโตของเนื้อเยื่อปกติในต่อมลูกหมากที่ส่งผลต่อการขับถ่ายปัสสาวะ เมื่อมีความผิดหรือโตขึ้น ก็จะทำให้ท่อทางเดินปัสสาวะแคบลง ปัสสาวะพุ่งไม่แรง อาการเหล่านี้มักจะพบในผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ในบางรายอาจพบช้าหรือเร็วกว่านี้ได้

มีคำถามส่งเข้ามากันมากว่า “เมื่อเป็นต่อมลูกหมากโตแล้ว จะทำให้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้หรือไม่” ต้องบอกว่า ถึงแม้ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีประวัติต่อมลูกหมากโตมาก่อน และผู้ชายที่มีต่อมลูกหมากโต ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงตามวัย ก็ไม่ได้พัฒนาเป็นมะเร็งทุกรายไป แต่ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกไม่มีอาการใด ๆ อาการของผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากจึงเป็นอาการของต่อมลูกหมากโตที่ผู้ป่วยเป็นอยู่แล้ว ดังนั้นการตรวจคัดกรองว่าจะมีมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ มีข้อแนะนำว่า หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากก็ควรมาพบแพทย์เร็วขึ้น และผู้ชายที่แม้ไม่มีประวัติการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากในครอบครัว ก็ควรมาพบแพทย์เมื่อมีอายุ 50 ปีแล้ว และหากพบว่ามีอาการเกี่ยวกับการขับถ่ายปัสสาวะเกิดขึ้นเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปแล้ว ก็ให้รีบมาพบแพทย์ทันที

การตรวจวินิจฉัยของแพทย์ จะทำการซักประวัติ ตรวจทางทวารหนัก เพื่อคลำต่อมลูกหมากว่ามีความผิดปกติ เช่น มีผิวขรุขระ เจ็บขณะกดที่ต่อมลูกหมากหรือไม่ การตรวจอีกวิธีคือ การตรวจปัสสาวะ ซึ่งสามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างได้ เช่น พบการอักเสบ พบเม็ดเลือดแดงหรือสารอื่น ๆ ปนในปัสสาวะ

นอกจากนี้ การตรวจเลือดเพื่อหาค่า PSA (พีเอสเอ) หรือการตรวจหาค่าของสารที่ผลิตจากต่อมลูกหมาก ก็เป็นอีกวิธีที่แพทย์นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน ซึ่งหากพบว่าค่าพีเอสเอสูงผิดปกติ อาจวินิจฉัยได้ว่าเกิดความผิดปกติที่ต่อมลูกหมากขึ้น เช่น การอักเสบ การถูกกระทบกระเทือนบริเวณต่อมลูกหมากจากการสวนปัสสาวะ และการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ทั้งค่าพีเอสเอมักสูงขึ้นตามวัยโดยปกติอยู่แล้ว

การตรวจอัลตราซาวด์ทางทวารหนักและตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ก็เป็นอีกขั้นตอนที่สำคัญในการวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจก็ต่อเมื่อผลการตรวจทางทวารหนักผิดปกติ หรือผลพีเอสเอมีความผิดปกติ แพทย์จะสอดอุปกรณ์เข้าทางช่องทวารหนักและตัดชิ้นเนื้อออกจากต่อมลูกหมากออกมาเพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง การตรวจเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ CT-SCAN หรือ ซีที-สแกน และการตรวจคลื่นแม่เหล็ก MRI (เอ็มอาร์ไอ) ก็อาจต้องนำมาใช้ตรวจวินิจฉัยร่วมด้วย ทั้งนี้ การตรวจเพิ่มเติมเพื่อความแน่ใจในทางการแพทย์ ยังมีวิธีการตรวจเช็กการทำงานของกระเพาะ ปัสสาวะอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งเป็นการตรวจที่ต้องอาศัยเครื่องมือพิเศษและอาศัยประสบการณ์ในการตรวจว่ามีข้อบ่งชี้ เช่น มีปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือมีอาการหลายอย่างร่วมกัน กล่าวคือ อาจมีทั้งปัสสาวะลำบาก ร่วมกับการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

จะสังเกตได้ว่า เทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยอาการของต่อมลูกหมาก มีอยู่มากมายหลายวิธี ดังนั้น จึงมั่นใจได้ในเรื่องการตรวจของแพทย์ทางระบบทางเดินปัสสาวะได้เป็นอย่างดี

เช่นเดียวกันกับการรักษา แพทย์จะมีวิธีการรักษาอาการต่าง ๆ เกี่ยวกับต่อมลูกหมากในผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันไป ซึ่งการรักษาโดยหลักในปัจจุบันนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 วิธี ได้แก่ การรักษาด้วยยา การผ่าตัด และการรักษาด้วยการใช้คลื่นความร้อน

การรักษาด้วยยา เป็นการรักษาหลักที่ยอมรับกันทั่วไปและเป็นการรักษาแรกที่แพทย์แนะนำให้กับผู้ป่วย ยากลุ่มหลักที่นิยมใช้มี 3 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีคุณลักษณะที่แตกต่างกันเหมาะกับผู้ป่วยแต่ละรายที่มีอาการแตกต่างกัน ดังนี้ ยาที่มีฤทธิ์ทำให้ท่อทางเดินปัสสาวะบริเวณต่อมลูกหมากโตขึ้น ยากลุ่มนี้เห็นผลเร็ว ทำให้อาการดีขึ้นเร็ว แต่อาจจะพบอาการข้างเคียงได้ ที่พบบ่อยได้แก่ วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ทั้งนี้เกิดจากความดันเลือดที่ลดลง ต่อมาคือ ยาที่มีฤทธิ์ทำให้ต่อมลูกหมากมีขนาดยุบลง ส่งผลให้อาการความผิดปกติในการขับถ่ายปัสสาวะดีขึ้น ยากลุ่มนี้จะเห็นผลค่อนข้างช้า แต่อาการข้างเคียงน้อย ที่พบบ่อยได้แก่ สมรรถภาพทางเพศลดลง อสุจิมีปริมาณลดลงยาที่ผลิตจากพืช หรือสมุนไพร ที่ใช้กันกว้างขวางในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลิตภัณฑ์พืชหลายชนิด ทำให้อาการความผิดปกติในการขับถ่ายปัสสาวะดีขึ้น ผลข้างเคียงน้อย

การผ่าตัด เป็นการรักษาที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นชัดเจน และได้ผลดีเป็นระยะเวลานาน หลักการของการผ่าตัด เป็นการนำเอาก้อนเนื้อจากต่อมลูกหมากออก เปิดช่องทางไหลของปัสสาวะให้กว้างขึ้น ในปัจจุบันใช้การผ่าตัดผ่านทางกล้องที่สอดเข้าทางท่อปัสสาวะเป็นหลัก หลายท่านอาจจะเรียกว่า การผ่าตัดขูดต่อม ลูกหมาก หรือคว้านต่อมลูกหมาก เพราะเป็นการนำเอาเนื้อต่อมลูกหมากที่อยู่ชิดกับท่อปัสสาวะออก เปิดช่องปัสสาวะให้กว้างขึ้น ซึ่งผู้ป่วยจะต้องนอนค้างในโรงพยาบาลและต้องดมยาสลบหรือฉีดยาชาบริเวณสันหลัง หลังทำผ่าตัดจะต้องคาสายสวนปัสสาวะไว้ 3-4 วัน แต่ด้วยวิวัฒนาการในปัจจุบันอาจจะมีการนำเอาวิธีการอื่นมาใช้ประกอบกับการส่องกล้องก็ได้ เช่น มีการใช้เลเซอร์ หรือคลื่นความร้อนมาทำลายเนื้อต่อมลูกหมากแทน การผ่าตัดขูดหรือคว้านต่อมลูกหมากนี้ จะทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะคล่องขึ้น พุ่งแรงขึ้น แต่อาการอื่นๆ เช่น ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะเร่งรีบ อาจจะยังคงมีเหลืออยู่หลังการผ่าตัดซึ่งจะต้องใช้ยารักษาต่อไป หากอาการที่เหลืออยู่ยังสร้างความรำคาญแก่ผู้ป่วย การผ่าตัดคว้านต่อมลูกหมากหรือการขูดต่อมลูกหมากนี้แตกต่างจากการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออก ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นมะเร็ง การขูดต่อมลูกหมากจะยังมีเนื้อต่อมลูกหมากเหลืออยู่ ผู้ป่วยยังจะต้องเฝ้าติดตามต่อไป เพราะเนื้อต่อมลูกหมากที่เหลืออยู่อาจจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้

การรักษาด้วยกรรมวิธีอื่น ๆ เช่น การใช้คลื่นความร้อน คลื่นไมโครเวฟ ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่แพทย์อาจจะเลือกใช้กับผู้ป่วยบางราย

หนทางที่ดีที่สุดของการรักษา ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคอะไรก็ตามแต่ ก็คือ การได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ และหากมีปัญหาเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ของต่อมลูกหมาก สามารถพบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ในงาน “โรคของต่อมลูกหมาก” ในวันอังคารที่ 11 พฤษภาคม 2553 ตั้งแต่เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชั้น 5 อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-2201-2521.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น