วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ป่วยเพราะอาคาร

แม้จะมีการพยากรณ์ว่าโลกกำลังร้อนขึ้นเนื่องจากประชากรบนผิวโลกใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย แต่ลมฟ้าอากาศในประเทศไทยดูจะกลับข้างกับการคาดการณ์ดังกล่าว จนอดสงสัยไม่ได้ว่า ฤดูร้อนแบบเดิมหายไปไหน ผลสืบเนื่องจากการที่อากาศเปลี่ยนแปลงไปมาและผิดฤดูกาลเช่นนี้ ทำให้หลายคนเจ็บป่วยด้วยอาการไข้หวัด รวมทั้งอาการระคายระบบทางเดินหายใจต่างๆ. อาชีวเวชศาสตร์ปริทัศน์ฉบับนี้ จะกล่าวถึงประเด็นการเจ็บป่วยกลุ่มหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ "อากาศ" เช่นกัน แต่เป็นอากาศภายในอาคารหรือที่นักวิชาการเรียกกันว่า "กลุ่มอาการป่วยเหตุอาคาร" ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมสอบสวนอาการเจ็บป่วยกับแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ท่านหนึ่ง.

อาการประหลาด
ในประมาณต้นปีพ.ศ. 2548 พนักงานหลายคนของโรงงานผลิตสารเคมีหนึ่ง ระบุว่าได้กลิ่นสารเคมีบริเวณห้องฝึกอบรมและห้องทำงาน จนเกิดอาการผิดปกติทางร่างกาย พนักงานทุกคนที่มีอาการ สงสัยว่าต้นตอของสารเคมีจะมาจากห้องปฏิบัติการที่อยู่ชั้นล่างใต้ห้องฝึกอบรมและห้องทำงาน.

ทีมงานอาชีวอนามัยของโรงงานและพนักงานประจำห้องปฏิบัติการที่สงสัยว่าเป็นต้นเหตุ ได้ร่วมกันตรวจวัดระดับสารเคมี ณ จุดที่ต้องสงสัย พบว่าสารเคมีทุกชนิดที่ตรวจวัดมีค่าความเข้มข้นต่ำกว่าค่ามาตรฐานมาก (non-detectable) และได้ตัดสินใจแก้ไขปัญหาด้วยการปรับท่อระบายอากาศจากห้องปฏิบัติการที่อยู่ชั้นล่างให้สูงเกินหน้าต่างของห้องฝึกอบรมและห้องทำงานซึ่งอยู่ชั้นสอง. นอกจากนั้น ยังได้ตัดต้นไม้ที่บังท่อระบายอากาศ เพื่อให้เกิดการระบายอากาศอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และใช้เทปกาวติดที่ขอบหน้าต่างกระจกของห้องฝึกอบรมเพื่อกันสารเคมีซึมผ่าน ภายหลังการดำเนินการ พบว่าพนักงานที่เคยมีอาการเจ็บป่วย มีอาการน้อยลงในปีนั้นและในปีถัดมา.

ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2550 มีการฝึกอบรมพนักงานเป็นเวลา 6 เดือนอย่างต่อเนื่องใน ห้องฝึกอบรมที่เคยเป็นปัญหามาก่อน โดยผู้เข้าอบรมต้องนั่งอยู่ในห้องเป็นเวลากว่า 8 ชั่วโมงในแต่ละวัน และในเดือนมีนาคม พบว่าผู้เข้าฝึกอบรมและพนักงานที่ทำงานในห้องข้างเคียงจำนวนหนึ่ง มีอาการ ผิดปกติต่างๆ เช่น แสบตา ไอแห้ง แน่นหน้าอก เมื่ออยู่ในห้องฝึกอบรมและห้องทำงานโดยอาการดีขึ้นเมื่ออยู่นอกอาคาร
.
ในเดือนมิถุนายน ทีมงานอาชีวอนามัยของโรงงานได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาจากภายนอก เพื่อทำการตรวจวัดระดับสารเคมีจำนวน 4 ชนิด ซึ่งมีการใช้ในห้องปฏิบัติการและสงสัยว่าจะเป็นต้นเหตุ โดยทำการตรวจวัด 4 จุด คือ ห้องฝึกอบรม ห้องทำงานข้างเคียง ห้องโถงและทางเดินภายนอกอาคารห้องปฏิบัติการ พบว่าค่าความเข้มข้นทั้งหมดต่ำกว่าค่ามาตรฐานมาก (non-detectable).


ในเดือนกรกฎาคม ทีมงานอาชีวอนามัยได้เชิญแพทย์ที่ปรึกษาของโรงงานเข้ารับฟังปัญหา และแพทย์ ได้ระบุเบื้องต้นว่าอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น น่าจะเข้าได้กับกลุ่มอาการที่พบได้ในพนักงานที่ทำงานในสำนักงาน เรียกว่า "Sick Building Syndrome" ซึ่งหมายถึงกลุ่มอาการเจ็บป่วยที่มักเกิดขึ้นสัมพันธ์กับการทำงานในสำนักงานและมีผู้ป่วยหลายคนพร้อมกัน พร้อมทั้งได้แนะนำให้ทางโรงงานปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการสอบสวนเพิ่มเติมต่อไป.

ทางโรงงานจึงได้ประสานติดต่อให้นายแพทย์ฉัตรชัย เอกปัญญาสกุล แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ผู้มีประสบการณ์ด้าน SBS จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเข้าทำการสอบสวนอาการเจ็บป่วยดังกล่าว.

คุณหมอฉัตรชัยทำการสอบสวนโดยให้พนักงาน ทุกคนในห้องฝึกอบรมและห้องทำงานที่เกิดปัญหา ไม่ว่ามีหรือไม่มีอาการเจ็บป่วย ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับสภาพการทำงานและสถานะสุขภาพของตนเอง จากนั้น ทำการเดินสำรวจห้องฝึกอบรมและห้องทำงาน เพื่อให้ได้ข้อมูลการระบายอากาศ การบังแสง ลักษณะการใช้ห้องเครื่องมือและอุปกรณ์ภายในห้องและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งทำการตรวจ วัดสิ่งแวดล้อมในบริเวณห้องฝึกอบรม ซักประวัติอาการเจ็บป่วยของพนักงานเพิ่มเติมและตรวจร่างกาย.
ผลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อม โดยเครื่อง Direct Sense® IAQ รุ่น IQ-410 และ Direct Sense® TVOC รุ่น TG-502 TVOC Probe ของบริษัท GreyWolf Sensing Solutions, USA พบว่ามีค่าความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ในห้องฝึกอบรมสูงเกินค่ามาตรฐานกว่า 1.5 เท่า ซึ่งการที่ก๊าซนี้มีการ "คั่ง" แสดงให้เห็นว่าการระบายอากาศในห้องน้อยเกินไป เข้าได้กับสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของปัญหา คือ การระบายอากาศไม่เพียงพอ (inadequate ventilation) ขณะที่ความเข้มข้นของสารเคมีและ ตัวแปรอื่นที่อาจเป็นต้นเหตุของกลุ่มอาการนี้ ได้แก่ ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ สารอินทรีย์ระเหย ปริมาณฝุ่นละออง ความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิและความเข้มของแสงอยู่ในเกณฑ์ปกติ.

ผลการวิเคราะห์แบบสอบถาม พบว่าพนักงานจำนวน 7 จาก 21 คนที่ตอบ (ร้อยละ 33) มีอาการเข้าได้กับ SBS กล่าวคือ มีอาการทางตา (เคืองตา แสบตา) ทางจมูก (แสบจมูก) ทางลำคอ (คอแห้ง) ทางระบบหายใจ (แน่นหน้าอก ไอ) ทางระบบประสาท (ง่วงเหงาหาวนอน ปวดศีรษะ คลื่นไส้) และทางผิวหนัง (เป็นผื่น ระคายเคืองใบหน้า) ขณะอยู่ในอาคาร และถือว่ามีสัดส่วนสูงกว่าปกติ เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วควรมีพนักงานที่เกิดอาการดังกล่าวนี้ น้อยกว่าร้อยละ 20 ของประชากรที่ทำงานในสำนักงานเดียวกัน.

คุณหมอฉัตรชัยจึงสรุปผลการสอบสวนว่า อาการเจ็บป่วยของพนักงานเข้าได้กับอาการ SBS จริง โดยสาเหตุน่าจะเกิดจากการระบายอากาศไม่เพียงพอ ไม่ใช่การปนเปื้อนของสารเคมี และได้แนะนำให้โรงงานแก้ปัญหาด้วยการปรับปรุงระบบระบายอากาศของบริเวณที่เกิดปัญหาและทำความเข้าใจกับพนักงาน รวมทั้งติดตามประเมินผลในระยะยาวต่อไป.

ทำความรู้จัก SBS
"กลุ่มอาการป่วยเหตุอาคาร" หรือ Sick Building Syndrome; SBS1,2 หมายถึง ภาวะผิดปกติด้านสุขภาพทางตา จมูก ลำคอ การหายใจส่วนล่าง ผิวหนังและอาการทั่วไป ที่เกิดขึ้นคล้ายกันในกลุ่มคนทำงานในอาคารสำนักงานที่มีความสัมพันธ์กับช่วงเวลาที่อยู่ในอาคาร แต่ไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่นอนได้ ปัญหาอาจเกิดขึ้นเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารหรือกับทุกส่วนของอาคารก็ได้ โดยอาการป่วยดังกล่าวเป็นอาการที่ไม่มีลักษณะเฉพาะโรค และมักจะดีขึ้นหรือหายไปเมื่อออกนอกอาคาร. นอก จาก SBS แล้วภาวะผิดปกตินี้ยังมืชื่อเรียกว่า "ความเจ็บป่วยเหตุไม่จำเพาะในอาคาร" (non specific building-related illness) และ "กลุ่มอาการอาคารปิดสนิท" (tight building syndrome).

องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าร้อยละ 30 ของอาคารสำนักงานใหม่หรือที่มีการปรับปรุง จะพบกลุ่มอาการป่วยเหตุอาคาร ขณะเดียวกันพบว่าร้อยละ 20-35 ของผู้ทำงานในอาคารสำนักงานที่ไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศภายในอาคาร สามารถพบอาการของกลุ่มอาการป่วยเหตุอาคารได้เช่นกัน และผู้ทำงานในอาคารสำนักงานเก่าจะปรากฏอาการมากกว่าอาคารสำนักงานใหม่.

สถาบันวิชาการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของประเทศสหรัฐอเมริกา (National Institute of Occupational Health and Safety-NIOSH) ได้ทำการสำรวจปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ พบว่าต้นเหตุของปัญหา ร้อยละ 53 เกิดจากการระบายอากาศไม่เพียงพอ (inadequate ventilation) ร้อยละ 15 เกิดจากแหล่งสารเคมีภายในอาคารเอง (contamination from indoor sources) ร้อยละ 10 เกิดจากแหล่งสารเคมีจากภายนอกอาคาร (contamination from outdoor sources) ร้อยละ 5 เกิดจากเชื้อราในอาคาร (microbial contamination) ร้อยละ 4 เกิดจากวัสดุตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ในอาคาร (building fabric as contaminant sources) และร้อยละ 13 ที่เหลือ ไม่สามารถหาสาเหตุได้ (unknown) .

ปัจจัยที่อาจก่ออาการป่วยเหตุอาคารอาจแยก ได้เป็น 4 กลุ่ม คือ ปัจจัยด้านบุคคล ลักษณะงาน สภาพแวดล้อมที่ทำงานและลักษณะอาคาร (ตารางที่ 1). ในปัจจุบันมีการสำรวจและสืบค้นสาเหตุการเกิดกลุ่มอาการป่วยเหตุอาคารกันอย่างกว้างขวาง พบต้นตอปัญหาหลายประเภท ได้แก่
- สารเคมีในอาคาร เช่น โอโซน สารประกอบอินทรีย์ระเหย (volatile organic compounds) ซึ่งระเหยออกมาในระดับต่ำจากเฟอร์นิเจอร์ วัสดุตกแต่งในอาคาร น้ำยาทำความสะอาด สี และอุปกรณ์เครื่องใช้ในสำนักงาน เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร ร่วมกับปฏิกิริยาการก่อภูมิไวต่อสารเคมี (susceptibility).
- การปนเปื้อนของจุลชีพในบริเวณที่ปูพรมมีน้ำรั่วหรือซึม ในระบบปรับอากาศและระบายอากาศแบบรวม ตามหอผึ่งเย็น ตัวกรอง ตัวปรับความชื้น.
- ฝุ่นตามพื้นผิวและสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แสง เสียง.
- การระบายอากาศในสำนักงานไม่เพียงพอ.


นอกจากนี้ ยังพบว่าปัจจัยทางด้านจิตสังคมและปัจจัยส่วนบุคคล เป็นตัวปรับเปลี่ยนการเกิดกลุ่มอาการป่วยเหตุอาคาร ทำให้พนักงานในอาคารเดียวกันมีอาการเพียงบางคน อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่แท้จริงได้ ทั้งนี้เพราะไม่พบว่ามีสาเหตุทางสิ่งแวดล้อมเพียงสาเหตุเดียวสามารถอธิบายการเกิดโรคได้ชัดเจน และมักตรวจพบว่าระดับมลพิษชนิดต่างๆภายในอาคารมีความเข้มข้นต่ำกว่าระดับที่คาดว่าจะเป็นสาเหตุของโรค.




ลักษณะทางคลินิก
กลุ่มอาการป่วยเหตุอาคาร ประกอบด้วยกลุ่มอาการของระบบอวัยวะต่างๆ ได้แก่ ตา จมูก ลำคอ ระบบการหายใจส่วนล่าง ระบบประสาทและระบบผิวหนัง ผู้มีอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะเริ่มมีอาการภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเริ่มทำงานในแต่ละวัน และมักจะดีขึ้นภายในไม่กี่นาทีหลังออกจากอาคาร โดยกลุ่มอาการป่วยในแต่ละระบบนั้นมีอาการแตกต่างกันดังนี้

1. กลุ่มอาการทั่วไป ลักษณะอาการส่วนใหญ่ไม่จำเพาะเจาะจงต่อโรคใดโรคหนึ่ง แต่เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปของระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะแบบตื้อเหมือนมีอะไรมาบีบรัด มึนศีรษะ ง่วงนอน หงุดหงิด ขาดสมาธิในการทำงาน คลื่นไส้ รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย.

2. กลุ่มอาการระคายเคืองต่อเยื่อบุ เช่น เยื่อบุตา จมูก ลำคอ เป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มผู้ทำงานในอาคารที่มีการปรับอากาศ โดยกลุ่มอาการทางตา ส่วนใหญ่เป็นการระคายเคืองตา น้ำตาไหล คันตา ตาแห้ง แสบตา ตาแดงโดยที่ไม่มีการอักเสบหรือติดเชื้อของตา ผู้ใส่เลนส์สัมผัส (contact lenses) จะรู้สึกว่าใส่ไม่สบาย. สำหรับกลุ่มอาการทางจมูก พบได้ตั้งแต่การรู้สึกระคายเคืองจมูก คัดจมูก น้ำมูกไหล คันจมูก ซึ่งคล้ายกับอาการของโรคภูมิแพ้ บางครั้งอาจพบอาการแสบจมูก เลือดกำเดาไหลหรือการได้รับกลิ่นของจมูกผิดปกติ และกลุ่มอาการทางลำคอ มีอาการคล้ายกับการติดเชื้อการหายใจ เช่น คอแห้ง แสบคอ ระคายคอ เจ็บคอ กลืนลำบาก เสียงแหบ.

3. กลุ่มอาการระบบหายใจส่วนล่าง พบได้น้อยกว่าอาการกลุ่มอื่น ลักษณะอาการส่วนใหญ่คล้ายกับโรคหอบหืด เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก อึดอัดบริเวณทรวงอก หายใจขัด แต่ไม่เคยมีประวัติโรคหอบหืดในอดีต รวมทั้งอาจพบว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่หรือรับควันบุหรี่แต่มีอาการไอ.

4. กลุ่มอาการทางผิวหนัง มักเป็นบริเวณที่สัมผัสได้ง่าย อาการที่พบ เช่น ระคายเคืองใบหน้า ผื่นขึ้นบริเวณใบหน้า มักพบในผู้ทำงานกับคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้นอาจมีอาการผิวแห้ง ผื่นนูนแดง ผื่นคัน ผื่นผิวหนังอักเสบ.

แม้อาการเหล่านี้ไม่ทำให้เจ็บป่วยอย่างรุนแรงหรือเป็นอันตรายต่อชีวิต แต่ก็ส่งผลกระทบทำให้ขาดสมาธิในการทำงาน การปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลลดลง ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการทำงานและขาดแรงจูงใจในงาน3 ซึ่งแสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ เช่น การขาดงานเพิ่มขึ้น ขาดความสนใจในงาน ทำงานนอกเวลาน้อยลง มีการเปลี่ยนงานบ่อย ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า กลุ่มอาการป่วยเหตุอาคารทำให้สูญเสียประมาณร้อยละ 0.5-1.0 ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมของประเทศ.

การวินิจฉัยโรค
คุณหมอฉัตรชัยสรุปว่ายังไม่มีเกณฑ์สากลในการวินิจฉัยกลุ่มอาการนี้ อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยขึ้นกับอาการที่ปรากฏในผู้ป่วยและพบอาการที่มีลักษณะคล้ายกันในเพื่อนร่วมงาน ทั้งนี้ อาจสรุปได้ว่า วินิจฉัยได้จาก
- มีลักษณะชี้บ่งว่าสัมพันธ์กับการทำงาน เช่น อาการปรากฏขึ้นเฉพาะเวลาทำงานในอาคาร อาการดีขึ้นเมื่อออกนอกอาคาร หรือหยุดงาน.
- มีการแยกโรคหรือภาวะอื่นๆที่สามารถทำให้เกิดอาการดังกล่าวข้างต้นออกก่อน.
- ไม่พบปัจจัยที่บ่งบอกแน่ชัดได้ว่า ปัจจัยดังกล่าวทำให้เกิดอาการต่างๆข้างต้น เช่น การติดเชื้อโรคปอดอักเสบจากภูมิไวเกิน โรคหอบหืด.

และเนื่องจากการขาดเกณฑ์วินิจฉัยที่ชัดเจนนี้เอง คุณหมอฉัตรชัยจึงได้เน้นว่าแพทย์ต้องทำการซักประวัติอย่างละเอียดเกี่ยวกับอาชีพและสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วย รวมถึงอาการของผู้ป่วยและความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งที่ทำงานและที่บ้าน ลักษณะงาน สิ่งแวดล้อมภายในอาคาร การระบายอากาศ ปริมาณฝุ่น และปัจจัยทางกายภาพ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แสง และควรค้นหาการเปลี่ยนแปลงในสิ่งแวดล้อมการทำงาน เช่น การปรับปรุงอาคาร การปูพรมใหม่ เครื่องใช้อุปกรณ์ใหม่ในสำนักงาน รวมทั้งปัญหาในงานและสภาพองค์กร เช่น ความพึงพอใจในงาน ปริมาณงาน ระดับความเครียด ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างาน และที่สำคัญ การที่อาการปรากฏขณะอยู่ภายในอาคารและดีขึ้นเมื่อออกจากอาคารจะเป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยกลุ่มอาการป่วยเหตุอาคาร.

นอกจากนั้น โดยทั่วไปแล้ว การตรวจร่างกายและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ มักไม่พบความผิดปกติ แต่เนื่องจากอาการป่วยกลุ่มนี้มีลักษณะไม่จำเพาะและเกิดขึ้นในหลายระบบ จึงควรทำการตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็นบางอย่างเพื่อคัดแยกสาเหตุอื่นออกก่อน.

นอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายดังกล่าวแล้ว ควรมีการประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมในอาคาร เพื่อช่วยในการจัดการกับปัญหาด้วย โดยควรมีการเดินสำรวจและตรวจวัดสภาพแวดล้อม ร่วมกับนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและวิศวกรที่เชี่ยวชาญด้านอาคารและระบบระบายอากาศ นอกจากนี้ควรมีการประเมินติดตามเป็นระยะๆต่อไป เพราะผู้ป่วยมักจะยังต้องทำงานในอาคารอยู่ต่อไปแม้จะมีปัญหาเกิดขึ้นก็ตาม.

การป้องกัน
คุณหมอฉัตรชัยแนะนำว่า การป้องกันภาวะผิดปกติกลุ่มนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ใช้อาคาร ผู้ดูแลอาคารและเจ้าของอาคาร ถึงแม้ว่าจะไม่พบเหตุปัจจัยโดยตรง แต่การแก้ไขเหตุปัจจัยทางอ้อม ก็สามารถทำให้อาการเจ็บป่วยดีขึ้น โดยใช้มาตรการทั้งการบริหารจัดการและการควบคุมทางวิศวกรรมควบคู่กันไป คือ

1. ควบคุมมลพิษและแหล่งก่อมลพิษในอาคาร เช่น เลือกวัสดุอุปกรณ์สำนักงานหรือสารเคมีที่เป็นพิษน้อยและใช้เท่าที่จำเป็น ใชัวัสดุที่ไม่เป็นแหล่งสะสมจุลชีพ ใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีการระเหยของสารตัวทำละลายปริมาณน้อย จัดวางเครื่องถ่ายเอกสาร หรือเครื่องพิมพ์ในที่ที่มีการระบายอากาศอย่างเพียงพอ ทำความสะอาดสถานที่ทำงานอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะตามพรม ฝุ่นตามพื้นผิว หลีกเลี่ยงกิจกรรมการก่อมลพิษในอาคาร เช่น การสูบบุหรี่.

2. ดูแลรักษาทำความสะอาดระบบปรับ อากาศและระบบระบายอากาศอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มการไหลเวียนของอากาศมากกว่า 10 ลิตรต่อวินาทีต่อคน ถ้าใช้ระบบปรับอากาศแบบรวม ควรลดการ นำเอาอากาศจากภายนอกเข้าอาคารโดยตรง เช่น การเปิดหน้าต่าง แต่ถ้าใช้เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน ขณะใช้งานควรเปิดพัดลมระบายอากาศเพื่อให้อากาศหมุนเวียน.

3. จัดระเบียบสถานที่ทำงาน ไม่ให้แออัดมีจำนวนคนต่อพื้นที่ใช้งานที่เหมาะสม ควบคุมสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสมทั้งทางกายภาพ เช่น แสง เสียง อุณหภูมิ ทางการยศาสตร์ เช่น ความสูงโต๊ะทำงาน ตำแหน่งของหลอดไฟส่องโต๊ะทำงาน และทางจิตสังคมในงาน เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง.

4. ให้ความรู้และสร้างความตระหนักในเรื่องคุณภาพสิ่งแวดล้อมในอาคาร โดยควรมีการอธิบายและให้ความมั่นใจแก่ผู้มีกลุ่มอาการดังกล่าว เพราะส่วนมากจะวิตกกังวลและรู้สึกว่าตนเองผิดปกติ แต่เพื่อนร่วมงานไม่เห็นความผิดปกติดังกล่าว. นอกจากนั้น ผู้มีความไวต่อการเกิดโรคควรหลีกเลี่ยงการนั่งทำงานใกล้แหล่งมลพิษที่สำคัญ ถ้าพบมีการเจ็บป่วยกลุ่มนี้หรือมีข้อร้องเรียน ควรให้ความสำคัญและรีบดำเนินการ บางครั้งในขณะที่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ควรย้ายงานหรือเปลี่ยนหน้าที่ให้กับผู้มีอาการ.

สุดท้ายนี้ หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้ตระหนักถึงกลุ่มอาการเจ็บป่วยนี้ และสามารถวินิจฉัย แก้ไข ป้องกันปัญหานี้ให้กับพนักงานที่ทำงานในอาคารสำนักงานต่างๆ ซึ่งกำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นในสังคมยุคใหม่ของประเทศไทย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น