วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สธ.เตือนภัยใช้คอมฯ นานเสี่ยงเกิดโรค CVS

ปลัด สธ.เตือนใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันนานๆ เสี่ยงเกิดโรค CVS ทำให้สายตาสั้น-กระทบกล้ามเนื้อและข้อกระดูก กลุ่มเสียงอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป...

วันที่ 2 พ.ค. 2553 นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์การทำงานหรือ ค้นหาข้อมูล รวมถึงเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยผลสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุด ปี 2551 คนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไปใช้คอมพิวเตอร์จำนวน 16.99 ล้านคน ในบ้านทุก 100 ครัวเรือนจะมีบ้านที่มีคอมพิวเตอร์ 24.8 เครื่อง ซึ่งการใช้คอมพิวเตอร์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากในปี 2547 มีผู้ใช้ 12.54 ล้านคน

ทั้งนี้ ผลจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานและมีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพเกิดอาการที่เรียกว่าซีวีเอส (CVS:Computer Vision Syndrome) ซึ่งมี 2 กลุ่มอาการใหญ่ๆ กระทบต่อการทำงานของอวัยวะ ได้แก่ ตา เนื่องจากใช้มองคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานและกระทบต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูกซึ่งจะเกี่ยวกับท่านั่งขณะใช้คอมพิวเตอร์ ในกลุ่มหลังนี้ต้องระมัดระวังโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปี ซึ่งมี ปัญหาเรื่องโรคต่างๆ เช่น โรคข้อ ระบบกล้ามเนื้อ ซึ่งนับวันจะมีเพิ่มมากขึ้นหากใช้คอมพิวเตอร์ไม่ถูกวิธี จะมีปัญหาทั้งสายตาและมีอาการปวดไหล่ปวดคอมากขึ้น

ด้าน นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กล่าวว่า มีผลการวิจัยพบว่า เด็กที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานจะทำเกิดให้เกิดสายตาสั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 30โดยเฉพาะเด็กมักจะใช้คอมพิวเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ที่สายตาสั้นอยู่แล้วจะทำให้สั้นมากขึ้นซึ่งจะจัดอยู่ในกลุ่มอาการทางตา แต่ไม่มีตัวเลขที่แน่นอน ปัจจุบันประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และฮ่องกงพบว่า มีเด็กสายตาสั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 แต่ไม่มีอันตรายต่อตามีเพียงผลข้างเคียงเช่นอาการล้าตาแห้ง ตามัวชั่วคราว ไม่ถึงขั้นตาบอดและมีอาการคอเคล็ด ปวดไหล่ ปวดข้อ ในบางคนจะเป็นระยะยาว ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการทางตาเกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานเกิน 25 นาที และตั้งจอคอมพิวเตอร์ที่ปรับระดับไม่เหมาะสมกับสายตาหรือวางเม้าท์ที่ไม่ได้ระดับกับแขน ความสว่างของไฟ การนั่งเป็นเวลานาน เป็นต้น

นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าวต่อว่า การจ้องมองคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานมีผลต่อระบบของการกรอกตา ระบบกล้ามเนื้อและประสาทซึ่งจะเกิดหลังจากใช้สายตานานผิดปกติ ทำให้เกิดอาการดวงตาล้าดวงตาตึงเครียด ตาช้ำ ตาแดง แสบตา การมองเห็นภาพไม่ชัดอยู่ในลักษณะภาพมัวๆ น้ำตาไหลมาก ปวดหัว ปวดคอ ปวดไหล่และหลังในการป้องกันปัญหาทางสายตาจากการใช้คอมพิวเตอร์ แนะนำว่าควรกระพริบตาบ่อยๆ พักสายตาเป็นเวลา 25 นาที พัก 5 นาที หรือ 30 นาที พัก 10 นาทีถ้าหากจำเป็นอย่างน้อย 25 นาที ควรพัก 1 ครั้งหรือใช้วิธีมองวิวนอกหน้าต่าง มุมห้อง หรือไปเดินเล่น

"การนอนหลับพักสายตาบนโต๊ะทำงานหลังอาหารเที่ยงประมาณ 15 นาทีจะเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดในเวลาทำงาน และควรใส่แว่นสายตาที่เหมาะสมแว่นที่แนะนำให้ใช้ ควรใช้แว่นตาชั้นเดียวชนิดใช้เลนส์เคลือบสารป้องกันการสะท้อนของแสงและป้องกันรังสีคลื่นแม่เหล็กด้วย " จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าว

นพ.ฐานปนวงศ์ กล่าวอีกว่า หลังจากมีอาการเมื่อยล้า ปวดหัวซึ่งเกิดจากการเครียด ปวดที่ไหล่ ข้อมือ หลัง ขา ซึ่งเป็นอาการทางระบบกล้ามเนื้อและข้อ ต้องไปพบแพทย์การรักษาจะต้องใช้เวลานานเป็นลูกโซ่ต่อเนื่อง บางรายอาจต้องใช้ยากิน ยาหยอดตา เช่น น้ำตาเทียม บางรายต้องใช้กายภาพบำบัดควบคู่ไปด้วยเพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายวิธีการป้องกันอาการที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุดคือ การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น วางคอมพิวเตอร์ให้ห่างจากตาประมาณ 20-26 นิ้ว วางคีย์บอร์ดและเม้าท์ให้อยู่ต่ำกว่าศอก แสงไฟไม่ควรส่องจากด้านหลังและที่สำคัญไม่ควรส่องเข้าหาจอคอมพิวเตอร์การปรับคอมพิวเตอร์ควรปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้มีความสว่างเท่ากับความสว่างของห้อง ปรับความถี่ของคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับ 70-80 เฮิร์ตหรือปรับให้สูงสุดเท่าที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ยังรู้สึกสบายตาการใช้ตัวหนังสือควรใช้ตัวหนังสือสีดำบนพื้นสีขาว ใช้แผ่นกรองแสงและดูแลหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ให้มีฝุ่นเกาะติด เพื่อทำให้การมองเห็นชัดเจน

ไทยรัฐออนไลน์
โดย ไทยรัฐออนไลน์
2 พฤษภาคม 2553, 12:30 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น